9Nomad, Bag Gallery & Fashion, miscellaneous, Thai Book Review แนะนำหนังสือ, Uncategorized

กงล้อประวัติศาสตร์ เรดการ์ด คลื่นคลั่งเหมา เยาวชนผู้ถูกปลุกปั่น

งล้อประวัติศาสตร์
ทำลายเก่า เพื่อสร้างใหม่
เรดการ์ด เยาวชนผู้ถูกปลุกปั่น

เรื่องราว ที่จะเขียนเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของเยาวชนหนุ่มสาวแดง ( เรดการ์ด ) ผู้ไม่ฟังใครในยุคสมัยหนึ่งของประเทศจีน

หนุ่มสาวแดง … เป็นกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่ตั้งต้นเป็น ผู้พิทักษ์ หรือองครักษ์ปกป้อง (Guards) ในลัทธิ หรือตัวบุคคลที่ตนเองเชื่ออย่างหมดใจ

คำว่า “เรดการ์ด”  เดิมเป็นคำที่เกิดขึ้นในโซเวียต ( เมื่อราวๆ ต้นปี ค.ศ. 1917 ) จากกลุ่มคนที่เป็นสมาชิกของพรรคบอลเชวิค ฝ่ายนายวลาดีมีร์ เลนิน ซึ่งกำลังขับเคี่ยวแย่งอำนาจกันในพรรค  เรดการ์ด ที่เกิดในโซเวียต  ไม่ใช่กองกำลังทหารอาชีพ หรือกองกำลังประเภทอื่นแต่อย่างใด แต่เป็นกองกำลังกลุ่มคน หรือพลเรือน ที่ใช้กำลังคนเข้ากดดันหรือบีบบังคับ ให้คนอื่น ๆ ต้องยอมรับ และให้ร่วมมือด้วย  …

การเกิดขึ้น และการมีอยู่ของเรดการ์ดในโซเวียต สร้างความสำเร็จทำให้ นาย วาดีมีร์ เลนิน สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประมุขสูงสุด

เรดการ์ดของจีน  นั้น เกิดขึ้นภายหลัง โดยเลียนแบบวิธีการตามเรดการ์ดของโซเวียต  แต่ได้ขยายออกจากแค่ความเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ไปสู่ นักเรียนนักศึกษาและคนหนุ่มสาว เพื่อใช้เป็นเครื่องในการกำจัดความเห็นต่าง และปกป้องผู้นำของตน

ในตอนนั้น โซเวียตและจีน ต่างใช้ สีแดง เป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเหมือน ๆ กัน

ที่จริง  Guards หรือ องครักษ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นแดง , แต่ สีแดง ในความหมายของ จีน ถือเป็นสีแห่งการปฏิวัติ สีแห่งความรุ่งโรจน์ สีแห่งตวามโชคดี ผู้คนส่วนใหญ่พอเอ่ยถึงคำว่า เรดการ์ด จะนึกถึงประเทศจีนมากกว่ารัสเซีย

ผ่านมาในยุคปัจจุบัน ..
การ์ดผู้พิทักษ์คุ้มกัน (Guards) ไม่จำเป็นต้องเป็น Red อย่างเดียว .. อาจจะเป็น เขียว (Green) , เหลือง (Yellow) หรือ  สีส้ม (Orange) ก็ได้

เยาวชนหรือคนหนุ่มสาวในยุคหนึ่ง
จะใช้ “ความศรัทธา” มากกว่าใช้เหตุผลทั้งหมด

พวกเขาเชื่อว่า ความศรัทธาคือ พลังชี้นำทาง   อะไรที่เกี่ยวข้องกับสังคม และกระทบต่อศรัทธาที่มี จะกระตุ้นแรงสนใจให้มีพลังแสดงออกมา . และ ทุกอย่างที่แสดงออก จึงมองเพียง ชัยชนะ เท่านั้น โดยไม่คำนึงถึง ความสูญเสียว่าจะเกิดขึ้นกับใคร และสิ่งใดบ้าง

การรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความศรัทธาเดียวกันจำนวนมาก โดยมุ่งตรงต่อเป้าหมายของกลุ่มตน เหนือกว่าเหตุผลแวดล้อมของสังคม .. สิ่งที่เกิดขึ้นลักษณะนี้เรียกว่า “ลัทธิ”

Guards หรือ ผู้พิทักษ์
จึงกลายเป็นกลุ่มลัทธิความศรัทธา รวมตัวเพื่อปกป้องในสิ่งที่ตนเชื่อ…

เป็นปกติของโลก  ที่เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ผู้ที่ยังไม่เคยหกล้ม และไม่เคยทุกข์ยาก ไม่เคยดิ้นรนผ่านประสบการณ์แสนเข็ญ มักจะมองโลกในมิติอุดมการณ์เดียว ..

    เหมือนกับดอกไม้แรกผลิ กลีบใบไม่เคยช้ำ .. ยังไม่ผ่านฤดูกาลอันหนาวเหน็บของหิมะ และแสงแผดร้อนจากดวงอาทิตย์ , พวกเขา และพวกเธอจึงกลายเป็น กลุ่มเป้าหมายอันบริสุทธิ์ทางการเมือง  เหมาะแก่การแต้ม ..
สีใด สีหนึ่ง ให้ฝังลงไป …..

… ต่อไปนี้ ที่จะเขียนคือเหตุการณ์เรื่องราว เรดการ์ด (Red Guards) ของประเทศจีน ..

เรื่องราวของพวกเขาในอดีต อาจจะเป็นเรื่องราวในอนาคตของประเทศใดประเทศหนึ่งก็ได้
.. และอาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในกาลข้างหน้า ก็เป็นไปได้ … ( Admin : หรือตอนนี้ก็อาจจะกำลังเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นได้ !!! )

ดังนั้น กลุ่มมวลชนพิทักษ์ความเชื่อ หรือพิทักษ์ตัวบุคคล เช่น เรดการ์ด ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่เป็นสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ แบบในอดีตเท่านั้น .. พัฒนาการเช่นนี้ สามารถพลิกแพลงเกิดขึ้นในประเทศ ประชาธิปไตย ก็ได้

… ถ้าไม่ผ่านไฟ ก็ไม่สงบ

ถ้าไม่ผ่านรบ ก็ไม่รู้ฟื้น

ถ้าไม่ฝันร้าย ก็ไม่รู้ตื่น

ถ้าไม่หยัดยืน ก็ถูกทำลาย ….

 

Guards หรือ ผู้พิทักษ์

 

เรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นจากความผิดพลาดของเหมาเจ๋อตุง
กับนโยบายก้าวกระโดด , และกลุ่มคนที่มีความหลงศรัทธาต่อตัว “ผู้นำ” จนแทบยกให้เขาเป็นเทพเจ้า ผู้ซึ่งกระทำผิดไม่ได้ 

เรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นจากความผิดพลาดของเหมาเจ๋อตุง ที่เริ่มใช้ “นโยบายก้าวกระโดด” เพื่อต้องการเปลี่ยนประเทศเกษตรกรรมจีน ให้ไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม อย่างรวดเร็ว โดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานแวดล้อมของสังคมจีนในเวลานั้น …

นับเป็นการผิดพลาดครั้งใหญ่ ของประธานเหมาเจ๋อตุง เพียงเพราะใช้ความต้องการของตนเองเป็นกระแสหลัก โดยขาดการ เตรียมปูพื้นฐานให้สังคมจีนค่อย ๆ ก้าวเดินไปอย่างมั่นคง …

  ในขั้นแรกเหมาเจ๋อตุง ใช้ “ระบบคอมมูนประชาชน”
(People’s Commune)

ด้วยรวมทุกอย่างที่เป็นปัจจัยการผลิตเข้ามาด้วยกัน ไม่ว่าจะมีที่นา 1 ไร่ หรือมีที่นา 10,000 ไร่ โดยทำเป็นสหกรณ์หรือกลุ่มชุมชน โดย… ให้ทุกครอบครัวที่สังกัดคอมมูน ต้องช่วยกันทำงาน เมื่อเสร็จจากทำนาบ้านนี้ ก็ต้องรวมตัวกันไปช่วยทำไร่ที่บ้านหลังโน่น … และเมื่อได้ผลผลิต จะแบ่งส่วนหนึ่งให้คอมมูนหรือสหกรณ์ สหกรณ์ก็จะจัดแบ่งต่อให้ครอบครัวชาวบ้านอีกทอดหนึ่ง แต่ต้องตัดเอาส่วนที่เกินหนึ่งยกเป็นของรัฐ   ( Admin : คล้ายกับวิธีการที่เรียกว่า ลงแขก ของประเทศไทย แต่จะแตกต่างกันตรงที่ การลงแขกทำด้วยความสมัครใจ และไม่มีการนำผลผลิตมากองรวมเป็นส่วนกลาง )

ตอนนั้นระบบคอมมูน ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างที่คาดหวัง เหมาเจ๋อตุง ก็ผุด “นโยบายก้าวกระโดด” ออกมาใช้บังคับควบคู่กันไป  …. เหมาเจ๋อตุงต้องการให้ประเทศจีน “กระโดด” พ้นจากการเป็นเกษตรกรรม ไปสู่ประเทศที่เป็นอุตสาหกรรม .. เป้าหมายหลักตอนนั้นก็คือ “เหล็ก” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่โลกต้องการอย่างมาก

ระบบคอมมูน ถูกผสานเข้ากับนโยบายก้าวกระโดด ..

โดย   รัฐจะสร้างโรงถลุงเหล็กขึ้นมาในคอมมูน หรือในชุมชนสหกรณ์ของหมู่บ้าน จำนวนหลาย ๆ โรงถลุง , พอหลังจากเลิกงานตอนเย็น สมาชิกทุกคนต้องใช้เวลาที่เหลือไปเผาถลุงเหล็กให้ได้ตามจำนวนที่รัฐบาลกำหนด …

ที่เกิดขึ้น ใน มณฑลเหอหนาน ถือเป็นตัวแบบแรกของนโยบายก้าวกระโดด เพื่อสร้างอุตสาหกรรมโดยเฉพาะขึ้นมา เทียบได้กับนิคมอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน มีการเคลื่อนอพยพประชาชน จากไร่นาป่าสวนให้เข้ามาทำงานเพื่อการผลิต ต่อมารัฐก็กระจายรูปแบบโรงงานใหญ่เช่นนี้ไปทั่วประเทศ

แรงงานจำนวนมาก เมื่อถูกอพยพให้ย้ายไปยังโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้ชนบท ขาดแคลนคนที่จะทำงานในภาคการเกษตร

อีกทั้ง  ความผิดพลาดของระบบคอมมูน ก็คือ ชาวบ้านไม่สามารถสร้างอนาคตได้ด้วยตนเอง รายได้จากออกแรงก็ไม่จูงใจ ไม่ทำให้เกิดการขยันหรือแข่งขัน เพราะถูกแบ่งปันเท่า ๆ กัน … อีกทั้งชีวิตภายใต้ระบบคอมมูนทำให้ผู้คนขาดอิสระ อย่างที่เคยดำรงชีพมาในอดีต ถูกผูกชีวิตเอาไว้กับรัฐ ที่บังคับให้เป็นสิ่งนั้น ให้ทำสิ่งนี้ 

ทำงานหนักเต็มร้อย ได้เพียงสิบ…
ทำงานสิบ ก็ได้เพียงสิบ ..
อย่างนั้น ทำแค่สิบก็พอ ไยต้องทำถึงร้อยด้วยเล่า ?…

ในเวลานั้น ผลผลิตทางเกษตรกรรม
ไม่สามารถมีมากเพียงพอที่จะปันส่วนให้รัฐตามเป้ากำหนดได้

ครั้นเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจพบ กลับไม่กล้าจดบันทึกตามจริง ว่าผลผลิตในชุมชนมีน้อย เพื่อแจ้งปัญหาไปยังส่วนกลาง .. เหตุเพราะ “กลัว” ว่าจะถูกตำหนิลงมา ว่าเป็นความบกพร่องของตนเอง เจ้าหน้าที่ จึงใช้วิธีการ “เบียดบัง” เอาส่วนแบ่งที่ชาวบ้านควรได้ ไปชดเชยจำนวนยอดที่ขาดอยู่ ….

ตัวอย่างเช่น   รัฐประเมินว่า ปีนี้จะต้องมีข้าวสาร 10 เกวียนในแต่ละหมู่บ้าน , โดยรัฐต้องการ 4 เกวียน นอกเหนือจากนั้นให้คอมมูนไปแบ่งปันกันแต่ละครอบครัว ….

แต่ … โชคไม่ดี ในช่วงเวลาที่มีระบบคอมมูน หลายพื้นที่ได้เกิดภัยแล้ง .. ต่อมาเมื่อมีฝน ฝนก็ตกมากผิดปกติ จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ดินเกษตรกรเองก็ไม่ดี ปุ๋ยสำหรับเกษตรก็มีไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตจริงที่ได้ออกมา ไม่ตรงกับที่คาดการณ์ …

….. จากที่คาดว่าจะได้ข้าวสาร 10 เกวียน กลับทำได้เพียง 6 เกวียน ,

เจ้าหน้าที่ต้องกันเอาไว้ 4 เกวียน ตามรัฐบังคับ , ที่เหลือ 2 เกวียน เป็นของประชาชนในคอมมูนแบ่งปันกัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพทั้งปี ….

คอมมูนบางแห่ง ได้ผลผลิตน้อยกว่า 4 เกวียน ไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐตัดส่วน ทำให้ประชาชนขาดแคลนอาหาร .. เกิดการล้มป่วยไม่สบาย ชาวนาชาวไร่พากันลาออกจากสหกรณ์คอมมูนเป็นจำนวนมาก … อีกทั้งเวลาและแรงงานในการทำการเกษตรถูกเบียดเบียนไป ไม่มีเวลาใส่ใจต่อพืชผลทางการเกษตร

เช้า…ตื่นมา รีบทำนาทำไร่ …
บ่าย…ไปหาไม้ผ่าฟืนบนเขา เพื่อเตรียมใช้ในการเผาเตาถลุงเหล็ก
เย็น … พอกินข้าวเสร็จ ต้องรีบไปโรงถลุงทำงานหน้าเตาเผาจน
ถึงดึกดื่นเที่ยงคืน เพื่อให้ได้ปริมาณเหล็กเยอะ ๆ ตามรัฐกำหนดไว้

ในช่วงเวลานั้น เทคโนโลยีทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมพื้นฐาน ยังไม่มี คนจีนที่เป็นชาวนา ชาวไร่ส่วนใหญ่ ใช้เพียงแรงงานของตนทำไปตามคำสั่ง …  สุดท้าย เหล็กที่หลอมได้จากโรงหลอมของชาวนา กลับเป็นเหล็กคุณภาพต่ำ ไม่สามารถนำไปขายยังต่างประเทศ ได้ นั่นจึงทำให้จีนประสบปัญหาอย่างมาก .. ข้าวปลาอาหารขาดแคลน อุตสาหกรรมผลิตเหล็ก ที่หวังวาดไว้ ก็สูญเปล่า ขายไม่ได้ ขาดคุณภาพ ผู้คนอดอยาก

ผลพวงคือ ความตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ ผู้คนล้มตายจากการทำงานและความแร้นแค้น .. ทั้งหมดเริ่มต้นจาก “การวางแผนผิดของภาครัฐ”

ความยุ่งยากในครั้งนี้ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
“เผิงเต๋อหวย”
ได้เขียนจดหมายวิจารณ์เหมาเจ๋อตุง เกี่ยวกับนโยบายก้าวกระโดด

เรดการ์ด
จอมพล เผิง เต๋อหวย 彭德怀

เหมาเจ๋อตุง ตอบโต้กลับ ด้วยการนำจดหมายนั้นไปลงหนังสือพิมพ์ .. และบอกว่า “เผิงเต๋อหวย ต้องการล้มล้างการปกครองแบบจีน เพื่อไปเข้าร่วมระบบการปกครองแบบโซเวียต”  !!!

     หลังจากเหมาเจ๋อตุง โต้ตอบเผิงเต๋อหวย ไปหนึ่งกระบวนท่า , เหมาเจ๋อตุงก็ได้เปิดประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อพิจารณาต่อปัญหานี้ .. ด้วยการ “ปลดเผิงเต๋อหวย” ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

จากนั้นคณะผู้พิพากษาของพรรค มีคำสั่งให้จำคุก เผิงเต๋อหวย ตลอดชีวิต !!!

นี้คือการ “ฆ่าไก่สอนลิง” กลางที่ประชุม เพื่อปราบไอ้พวกลิงที่คิดจะกระโดดเข้ามา ระงับกิริยาเห็นต่างเอาไว้  ถัดมา เหมาเจ๋อตุง ได้แต่งตั้งให้ “นายพล หลินเปียว” ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แทนที่ เผิงเต๋อหวย

จอมพล หลิน เปียว 林彪

นายพล หลินเปียว จึงมีอำนาจ และเฉิดฉายโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การปฏิวัติวัฒนธรรมกำลังจะเกิดขึ้น หลินเปียวได้ร่วมมือกับ “เจียงชิง” ภรรยาคนที่ 4 ของเหมาเจ๋อตุง เพื่อไล่ล่ากำจัดคู่แข่งและคู่ขัดแย้ง

ทั้งนายพลหลินเปียว และ “แก๊ง 4 คน” ไม่สามารถใช้กองทหารหรือตำรวจในการกำจัดคู่แข่งได้ เพราะระบบกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำ

 


แก๊ง 4 คน จึงได้นำยุทธวิธี
“ยืมดาบฆ่าคน” ออกมาใช้ !!
ด้วยวิธีการ ยั่วยุปลุกปั่น
เยาวชนกลุ่มหนึ่งขึ้นมาให้เป็น “ดาบ”

เป็นกองกำลังนอกกฎหมาย
มีชื่อกลุ่มว่า “เรดการ์ด”

และนี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของคำขวัญ

“ทำลายเก่า เพื่อสร้างใหม่”

การดำเนินการด้วย ระบบคอมมูน (หรือนารวม) ทำให้เศรษฐกิจจีนชะงักงัน นโยบายก้าวกระโดด จากเกษตรกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมอย่างรีบเร่ง ยิ่งไม่เกิดผลดี กลับฉุดลาก การเกษตรให้ตกต่ำลงไปด้วย ….

“หลิวเส้าฉี” 1 ใน 3 ผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น (ประกอบด้วย เหมาเจ๋อตุง , หลิวเส้าฉี , โจวเอินไหล) ได้เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมกับดึง “เติ้งเสี่ยวผิง” ให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา
“เติ้งเสี่ยวผิง” จึงมีบทบาท แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ โดยอนุญาตให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจขนาดเล็กขึ้นได้ เพื่อให้เกิดระบบการผลิตทางด้านอื่น

     มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน , มีการให้เปิดตลาดนัดขึ้นในชุมชน เพื่อกระจายสินค้าท้องถิ่นและสร้างรายได้จากผลผลิตเกษตรกรรม ระบบเงินทองจึงหมุนเวียนขึ้น …

หลิว เช่าฉี 刘少奇

แต่ก็มีคนนำเรื่องนี้ ไปแจ้งต่อประธานเหมาเจ๋อตุง…

…. เหมาเจ๋อตุง  พิจารณาว่า การกระทำนี้มันเป็นระบบทุนนิยม .. จึงทำให้เกิดการโต้เถียง เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ ระหว่างฝ่ายหลิวเซ่าฉี เติ้งเสี่ยวผิง , กับ ฝ่ายเหมาเจ๋อตุง …

ท้ายที่สุด  เหมาเจ๋อตุงบอกว่า สิ่งที่หลิวเส้าฉี และเติ้งเสี่ยวผิง กระทำนั้น (ด้วยการนำระบบทุนนิยมมาใช้ในกระบวนการเศรษฐกิจ) มันจึงเป็น ระบบลัทธิคอมมิวนิสต์แบบแก้

หลิวเส้าฉี และเติ้งเสี่ยวผิง  แก้ไขให้ระบบเศรษฐกิจพยุงตัวเดินต่อไปได้ แม้ทำให้กลุ่มคนในพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนหนึ่งเห็นด้วย แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ยึดมั่นในระบบคอมมิวนิสต์แท้ ๆ ซึ่งแน่นอน คนกลุ่มนี้ “ไม่เห็นด้วย”

และดูเหมือนว่า เหมาเจ๋อตุง จะไม่พึงพอใจสิ่งนี้
และ ไม่ยอมรับในข้อผิดพลาดจากนโยบายก้าวกระโดดที่เกิดขึ้น …

ในที่ประชุมพรรคคอมมิวนิวส์
หลิวเส้าฉี ได้กล่าวว่า ….

ความผิดพลาดและความเสียหายยุ่งยากทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายก้าวกระโดดนั้น มีสาเหตุมาจาก ภัยธรรมชาติ 30 % , และอีก 70 % เกิดเพราะคนทำขึ้น( human error : Admin )

คำกล่าวนี้… เหมือนคมกระบี่ไร้สภาพ แทงทะลุเข้าตรงขั้วหัวใจของอีกฝ่ายหนึ่ง

รอยร้าว ระหว่างผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เคยร่วมต่อสู้เพื่อสร้าง “สาธารณรัฐประชาชนจีน”ด้วยกันมา
พลันมาถึงจุดแตกหัก – จุดที่ต่างสร้างดาวกันคนละดวง

จากนั้นไม่นาน อาจารย์หวู่ฮั่น ซึ่งเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์
ได้นำบทละครชิ้นหนึ่งออกมาเขียน ในชื่อว่า  “การปลดไหรุ่ย ออกจากราชการ”

ไหรุ่ย คือใคร ?  ไหรุ่ย เป็นขุนนางตำแหน่งเจ้าเมืองในสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่กล้าไปขอให้ฮ่องเต้คืนที่นา ที่ทำกิน อันรัฐได้ยึดเอาไป ให้คืนกลับมาแก่ชาวนาดังเดิม เพื่อให้ชาวนาได้ทำกิน … โดยให้เหตุผลว่า ทางรัฐก็ได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งจากผลผลิตของชาวนา เหตุไฉนต้องยึดที่นาทั้งหมดเอาไว้ในมือของรัฐ ? อันจะทำให้ชาวนาขาดกำลังใจในการสร้างชีวิต การขอคืนที่นาให้ชาวนา ชาวไร่ ทำให้ฮ่องเต้ไม่พอพระทัย สั่งปลดไหรุ่ยออกจากราชการ

*** บทละคร ไหรุ่ย ได้แพร่กระจายออกไปทั้งทางสิ่งพิมพ์และวิทยุ … รวมถึงจากปากต่อปาก ของชาวบ้านชาวเมือง …..

จะบังเอิญหรือจงใจก็ตาม .. มันช่างสอดคล้องกับเมื่อไม่นานมานี้ ที่เหมาเจ๋อตุงได้สั่งปลด “เผิงเต๋อหวย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม , ที่กล้าเขียนจดหมายวิจารณ์นโยบายก้าวกระโดด โดยเฉพาะเรื่องเอาที่ดินชาวนามารวมกันเป็นคอมมูน

ช่วงเวลานั้นเอง …. ประธานเหมาเจ๋อตุง ถูกกระหน่ำด้วยเสียงเยินยอของคนจำนวนมาก ทำให้ความนับถือแบบวีรบุรุษ แปรเปลี่ยนกลายเป็น ความศรัทธาแบบเทพเจ้าไป “เทพเจ้า … อันหมายถึงสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ตำหนิไม่ได้ ทำผิดหรือคิดผิดไม่เป็น”

ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่เช่นนี้ การวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ย่อมทำให้สถานะประธานเหมาเจ๋อตุง ถูกดึงลงมาต่ำ นับเป็นการ ท้าทายอำนาจ !!! 

กลุ่มยุวชนเรดการ์ด จึงได้เกิดขึ้น ด้วยจุดประสงค์ที่อ้างว่า เพื่อปกป้องลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ แต่ที่จริงแล้ว ก็คือเพื่อปกป้องประธานเหมาเจ๋อตุง ..

กลุ่มเยาวชนเรดการ์ด
ซึ่งอยู่ภายใต้การชี้นำของ แก๊ง 4 คน .. ประกอบด้วย…
นาง เจียงชิง , จาง ชุนเฉียว , เหยา เหวินหยวน , หวัง หงเหวิน”

หัวหน้า เรดการ์ด แก๊ง 4 คน
แก๊ง 4 คน

นางเจียงชิง คือภรรยาคนที่ 4 ของเหมาเจ๋อตุง
.. นางมิใช่สตรีธรรมดาจริง ๆ
นางคือ หัวเรือใหญ่ของแก๊ง 4 คน

เริ่มปฏิบัติการ :
ปฎิบัติการรายแรก คือ หลิวเส้าฉี

– โจวเอินไหลในระยะต้น สนับสนุนแนวคิด เยาวชนเรดการ์ด แต่กระนั้น พอผ่านไประยะหนึ่งจึงไม่เห็นด้วย จนต้องถูกลดบทบาท และหลีกหนีอีกคนหนึ่ง
– เติ้งเสี่ยวผิง ก็ไม่รอดพ้นภัยวิบาก จากกลุ่มเยาวชนเรดการ์ด จนถูกเด้งไปชนบทห่างไกล , ผลกระทบหนักตกอยู่ที่ลูกชายคนหนึ่ง และดีที่เติ้งเสี่ยวผิงยังรอดตายมาได้

กระนั้น ยังคนอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมรบกันมาตั้งแต่หนุ่มยันแก่ บัดนี้กลาย “ผู้นำเก่า ๆ” ตามนิยามที่ตั้งธงเอาไว้ของ กลุ่มเรดการ์ด !!!

คน เมื่อผ่านฝนมาหลายฝน
ผ่านแดดมาหลายแดด
ผ่านหิมะกัดเท้ามาหลายฤดู
ซึ่งที่เรียกกันว่าเป็นคนผ่านโลก
ได้ถูกแปลความหมายในทางตรงข้ามว่า
“ตกยุคและเก่า”

 

กลุ่ม เรดการ์ด ปลุกระดมวลี-สร้างความเชื่อ จับผูกโยงว่า เก่า คือไม่พัฒนา

.. และการที่ประเทศจีนพัฒนาไปข้างหน้าไม่ได้ ล้วนเกิดจากวัฒนธรรมเก่า ๆ ประเพณีเก่า ๆ ที่สะสมกันมาตลอดทุกสมัยราชวงศ์ในอดีตของจีน ถึงเวลาต้อง “ทำลายคนเก่า” “ทำลายสิ่งเก่า”  ทำลายวัฒนธรรมความเชื่อเก่า ๆ , แล้วเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ กันเสียที !!!

การยืมกำลังเยาวชน คือกลอุบายที่แยบยลที่สุด .. ( เริ่มคุ้นๆกันหรือยังครับ : Admin )
  …..  ประธานาธิบดี หลิวเส้าฉี และ หวางกวงเหม่ย สตรีหมายเลขหนึ่ง ผู้เป็นภรรยา จึงเหมาะแก่การเป็นเป้าหมายแรก ของ เยาวชนเรดการ์ด .. ด้วยการลงมือจัดการ อย่างโหดร้ายและไร้น้ำใจ ..อย่างที่สุด 

หมดยุคของภูผาอันยิ่งใหญ่
.. ถึงเวลาของ สายลมแห่งเปลี่ยนแปลง
ไม่มีอีกแล้วผู้หลัก ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน

(* ในเวลานั้น เหมาเจ๋อตุง ถูกยกให้ขึ้นเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์
และหลิวเซ่าฉี เป็นประธานาธิบดีของประเทศ)

เรียบเรียงโดย :  Padipon Apinyankul


ประธานาธิบดี หลิวเส้าฉี และภรรยาของเขา หวางกวงเหม่ย
ประธานาธิบดี หลิวเส้าฉี และภรรยาของเขา หวางกวงเหม่ย Wang Guangmei 王光美 , Liu Shaoqi 刘少奇

จุดจบที่ไม่งดงามของประธานาธิบดี หลิวเส้าฉี และภรรยา หวางกวงเหม่ย …
ใน สังคมที่เต็มไปด้วยการขู่ข่มเหง

ในช่วงปี ค.ศ.1966  ถือเป็นช่วงปี ที่มีความเข้มข้นช่วงหนึ่งของการ ปฎิวัติวัฒนธรรม ของจีน มีการตามเก็บเช็คบิล กลุ่มพวกเห็นต่าง หรือแม้แต่สมาชิกพรรคบางคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย “ก้าวกระโดด” ของเหมาเจ๋อตุง การมุ่งทำลายล้างครั้งนี้ เรดการ์ด หมายเอาถึงชีวิตกันเลยทีเดียว และแน่นอน เป้าหมายและแนวทางปฎิบัติของเรดการ์ด จะมีการกำหนดเป้าหมายกันไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยจะมีรูปแบบของข้อกล่าวหา ว่าเป็น ศักดินา หรือ มี “ปฎิกริยา” หรือมีพฤติกรรมใดๆ ที่อาจจะทำให้ “เชื่อได้ว่า” มีการต่อต้านการปฎิวัติ … เป็นต้น

และเหยื่อ คนสำคัญ ของกลุ่มขบวนการ เรดการ์ด นั่นก็คือ
ประธานาธิบดี หลิวเส้าฉี และภรรยาของเขา หวางกวงเหม่ย นั่นเอง !!!

    เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1967 เรดการ์ด 30 คน บุกบ้านพักของ ปธน.หลิวเซ่าฉี ในจงหนานไห่ เข้าจับกุมหลิวเซ่าฉีกับหวางกวงเหม่ย ภรรรยา ทั้งสองต้องตกเป็นจำเลยของ กลุ่มเรดการ์ด ที่ตั้งศาลเตี้ยกันขึ้นเองภายในมหาวิทยาลัยชิงหัว ในท่ามกลางผู้ชมกว่า 300,000 คน มีการบังคับให้หวางกวงเหม่ยแต่งตัวให้ดูเป็นตัวตลก แล้วบังคับให้วิจารณ์ตนเอง สอบสวนแล้วสอบสวนอีกตลอดเวลาสองคืนเต็มๆ

     วันที่ 18 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1967 เรดการ์ดบุกเข้าไปจับตัว หลิวเซ่าฉี และ หวางกวงเหม่ย ภรรยา อีกครั้ง ในที่พำนักในจงหนานไห่ ครั้งนี้ ทั้งคู่ถูก เรดการ์ด รุมทำร้ายจนบาดเจ็บ

กลุ่มเรดการ์ด มีการดำเนินคดี และตัดสินกันเอง โดย ลูกๆ ของหลิวเซ่าฉี ถูกทำร้าย และถูกเนรเทศไปทำงานในถิ่นกันดาร มีบางคนถึงขั้นเสียชีวิต และ หลิวเซ่าฉี ถูกจับคุมขัง ถูกทุบตี และถูกปฎิเสธการให้ยาโรคประจำตัว (เบาหวาน) หลิวเซ่าฉี ได้เสียชีวิตในที่คุมขังในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1969

    หวางกวงเหม่ย ภรรยาของ หลิวเซ่าฉี  ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับของสหรัฐอเมริกาหรือโซเวียตระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัยฟูเหริน …. มีศาสตราจารย์ ท่านหนึ่งมีอายุมากแล้ว ถูกเรดการ์ดทำร้ายถึงชีวิตหลายคน เหตุเพราะไม่ยอมยืนยันตามข้อกล่าวหาดังที่กล่าวหาว่า หวางกวงเหม่ย เป็นสายลับ  รวมถึงแม่ของ หวางกวงเหม่ย ก็ถูกทรมานจนเสียชีวิต เพราะไม่ยอมให้การเท็จใส่ร้ายลูกสาว …

เรดการ์ด
บังคับให้หวางกวงเหม่ยแต่งตัวให้ดูเป็นตัวตลก แล้วบังคับให้วิจารณ์ตนเอง สอบสวนแล้วสอบสวนอีกตลอดเวลาสองคืนเต็มๆ

 หวางกวงเหม่ย ถูกคุมขังแยกกับหลิวเซ่าฉี หลังการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ 9 พรรคในปี ค.ศ. 1969 หลินเปียวเสนอรายชื่อนักโทษความผิดร้ายแรงที่ควรประหารชีวิต เพื่อให้เหมาเจ๋อตงอนุมัติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชื่อของเธอ ที่เจียงชิง (ภรรยาเหมา) เกลียดชังเป็นพิเศษ ทว่าเหมาขีดชื่อของเธอออก หวางกวงเหม่ย จึงแค่ถูกขังเดี่ยวจนถึง ค.ศ. 1979 จึงได้รับอิสรภาพ


ความป่าเถื่อนและอหังการ์ ของกลุ่ม ยุวชนเรดการ์ด ไม่ได้มีเพียงแค่กับ ปธน.หลิวเซ่าฉี และภรรยา เท่านั้น ,  เติ้งเสี่ยวผิง ก็ไม่รอดพ้นน้ำมือของกลุ่มเยาวชนเรดการ์ด เช่นกัน …  เติ้งเสี่ยวผิง ถูกย้ายไป เป็นคนงานโรงงานในชนบทแห่งหนึ่ง ที่ห่างไกล อีกทั้ง ลูกชายคนโตของ เติ้งเสี่ยวผิง ยังถูกกลุ่มยุวชนเรดการ์ด ทำร้ายทุบตี และถูกจับโยนลงจากตึกสี่ชั้น จนทำให้ขาพิการไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม กลุ่มเรดการ์ด ยังพุ่งเป้าการทำลายล้าง ไปที่กลุ่มปัญญาชน คนมีการศึกษา อาจารย์ นักเขียน นักแสดง ซึ่ง พวกเรดการ์ดเหล่านี้ มองคนกลุ่มนี้ว่า เป็นชนชั้นนายทุน และ/หรือรับใช้นายทุน …. ความก้าวร้าว และความมีอิทธิพลและอำนาจ สามารถสั่งให้อาจารย์มหาวิทยาลัย มาเป็นภารโรงทำความสะอาด และก็ถูกนำมาทุบตี แห่ประจาน ให้เป็นที่อับอายต้องหน้าผู้คน ที่หนักสุดคือ มีการนำเอาระเบิดมาผูกติดตัวกับครูอาจารย์ แล้วจุดระเบิด เลยก็มี

บ้านเมืองขณะนั้น มีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก บ้านไหน หากเพียงแค่ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มนายทุน หรือมีพฤติกรรมรับใช้นายทุน ก็จะถูกค้นบ้าน และถูกตัดสินดำเนินคดีกันเอง ที่หนักไปกว่านั้น พฤติกรรมนี้ของเรดการ์ด ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ประชาชนคนอื่นๆ แต่ยังลุกลามไปแม้กระทั่ง พ่อแม่ และญาติพี่น้องของพวกกลุ่มเรดการ์ดเอง ประเภทลูกแจ้งจับดำเนินคดีแม่ตัวเอง เหตุเพราะว่ากล่าว ปธ.เหมา จนต้องถูกทุบตี และถูกตัดสินประหารชีวิต

จุดจบของเรดการ์ด ก็มาถึง เมื่อมีอำนาจมากๆเข้า ก็เกิดความขัดแย้งกับพวกเดียวกันเอง ขัดแย้งกันเอง จนถึงขนาดมีการก่อเหตุตะลุมบอนกัน   ลุกลามไปถึงการเข้าบุกเผาสถานทูตอังกฤษ เรื่องราวบานปลาย สร้างความเสียหน้ากับเหมาเจ๋อตุงเป็นอย่างมาก เหมาเจ๋อตุง จึงสั่งการให้กองทัพปลดแอก ทำการสลายกลุ่มขบวนการเรดการ์ดด้วยการ ส่งไปใช้แรงงานร่วมกับชาวนาในชนบท

เยาวชนที่เป็นเรดการ์ดได้ “ขึ้นสู่ป่าเขา ลงสู่ชนบท” ประมาณ 16,230,000 คน 

กาลของ เรดการ์ด ก็จบลง ณ บทนี้ …. แต่ปัญหาของขบวนเรดการ์ด ก็ยังส่งผลในระยะกลาง ถึงระยาว เนื่องจาก คนกลุ่มนี้ขาดการศึกษา และมีความคิดสุดโต่ง นิยมความรุนแรง จึงค่อนข้างที่สร้างปัญหา และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้

     พฤติกรรมของ เรดการ์ด นั้นเป็นพฤติกรรมที่ซ้ายจัด และขาดวุฒิภาวะอย่างยิ่ง เรดการ์ดได้ก่อโศกนาฏกรรมให้แก่สังคมจีนอย่างแสนสาหัส คุณค่าทางจริยธรรมที่ดีงามและสืบทอดมานับพันปีถูกเรดการ์ดทำลายอย่างย่อยยับ

   หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นมา .. ได้มีการพูดคุยกับเยาวชนเรดการ์ดที่เติบใหญ่ .. ทุกคนตอบว่า ตอนนั้นเชื่อในสิ่งที่ทำ เพราะคิดว่า จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศจีนได้ พ่อแม่ ลุงป้า และครอบครัวเยาวชนเรดการ์ด ต่างถูกลูกหลานตนเองกดดัน ข่มขู่ จนเกิดการแตกแยกทางสังคมไปทั่ว  กว่าจะสำนึก ก็บาดเจ็บล้มตายกันไปเยอะ .. ท้ายที่สุดเรดการ์ดก็ถูกปราบปราม

    เติ้งเสี่ยวผิง และคนเก่าคนแก่ที่เหลืออยู่ ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาที่กลุ่มเรดการ์ดสร้างขึ้น ..

คนรุ่นใหม่ ร้อนระอุ ดื้อ เอาแต่ใจ .. = ทำลาย

คนรุ่นเก่า จึงเป็นทั้ง “คนสร้าง” (แล้วถูกทำลาย) และเป็น “คนฟื้นฟู” อีกครั้ง


 แอดมินมองเห็นว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ช่างดูคล้ายๆกับ สถานการณ์ของประเทศไทย และพฤติกรรม ของเยาวชนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย เพียงแต่ตอนนี้ เยาวชนกลุ่มนี้ ยังไม่มีอำนาจเท่า แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ก็ไม่แน่ เหมือนกัน ….  แอดมินก็ได้แต่ สวดภาวนา ว่า อย่าได้เกิดเหตุการณ์นี้อีกเลย ไม่ว่าจะกับประเทศไหน …. 

 

แนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้อง

เหมาเจอตง หนังสือ - n1
คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มอีก

เหมา เจ๋อตง : มนุษย์ไม่ใช่พระเจ้า
   นี่คือเรื่องราว ‘ท่านประธานเหมา’ รัฐบุรุษแห่งแผ่นดินจีน ซึ่งเขาอาจจะได้รับการยกย่องว่าเปรียบประดุจเทพของคนจีน แต่อีกด้านหนึ่งเขาคือ ‘มนุษย์’ ไม่ใช่ ‘พระเจ้า’   ยุคสมัยหนึ่ง เหมา เจ๋อตง ถูกยกย่องสูงส่ง ดั่งเทพเจ้า แต่อีกมุมหนึ่งกลับเผยว่า หมาเจ๋อตงก็เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา มิใช่เทพเจ้าดั่งที่ถูกกล่าวอ้าง   หนังสือเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวของเขา ในอีกแง่มุมหนึ่ง มุมที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน…  นี่คือหนึ่งในหนังสือชีวประวัตินักปฏิวัติที่ดีที่สุด ให้ความรู้สึกสมจริงไปกับตัวอักษร พาย้อนเข้าไปสู่แผ่นดินจีนในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติ วันเวลาที่ผู้คนในชนชาติจีนล้วนกู่ร้องว่า “ประธานเหมาจงเจริญ”


 

หนังสือ  โจว เอินไหล : มหาบุรุษโลกไม่ลืม
คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มอีก

• โจว เอินไหล : มหาบุรุษโลกไม่ลืม
     เรื่องราว เส้นทางชีวิตของ โจว เอินไหล ที่ผ่านการต่อสู้และปฏิวัติ ชายผู้สมถะ ถ่อมตน สุภาพ และให้เกียรติต่อบุคคลอื่น ลุ่มลึกทั้งทาง ยุทธศาสตร์และวาทศิลป์จนทั่วโลกต่างยอมรับ  เขาคือผู้นําคนสำคัญในการผลักดันประเทศจีนให้ก้าวหน้า สร้างนโยบายทางการทูตอันโดดเด่น เป็นสหายที่ยืนหยัด เคียงบ้างเหมา เจ๋อตง แม้เกือบเพลี่ยงพล้ำจนถูกไล่ล่าจาก กลุ่มเรดการ์ด และแก็งออฟโฟร์ คุณูปการที่มีต่อประชาชนและ ประเทศชาติตลอดชีวิต ทำให้โจว เอินไหลยังคงอยู่ในหัวใจชาว จีนตลอดมา นี่คือชีวประวัติและเรื่องราวการต่อสู้ของรัฐบุรุษ นักปฏิวัติผู้ทรง คุณค่า มากปัญญา และมีชีวิตชีวาแห่งยุคสมัย