miscellaneous

ชะตากรรมของ พระยาทรงสุรเดช | ตอนที่ ๑๔ โลกเข้าสู่ยุคสงคราม

๑๒ พฤษภาคม ๑๙๔๐

กองทัพเยอรมัน นำด้วยรถถังอันเกรียงไกร ก็แปรขบวนข้ามแนวต้านทานของฝรั่งเศส ที่แนวชายแดน บุกตลุยมุ่งสู่ปารีสทันที

สองวันหลังจากนั้นปารีสก็แตก…

 เครื่องดื่ม โพรไบโอติก Probiotics-n1
KOMBUCHA BY SCOBY DO IT เครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการหมัก มีสรรพคุณทางยา โดยมี “จุลินทรีย์ โพรไบโอติก Probiotics” ที่เป็นพระเอกของเครื่องดื่มชนิดนี้

ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสต่อเยอรมัน ส่งผลถึงอินโดจีน ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส ที่ปกครองอินโดจีนต้องฟังคำสั่งการของรัฐบาลวีซี่ หุ่นที่เยอรมันจัดตั้งขึ้น แม้จะไม่ชอบหน้าเลยก็ตาม ….

    ก่อนหน้า ที่กองทัพเยอรมันจะบุกยึดกรุงปารีสได้นั้น รัฐบาลไทย และอินโดจีนฝรั่งเศส ได้ตกลงทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่ยังไม่ได้ลงนาม เพราะทางอินโดจีน ส่งไปให้รัฐบาลแม่ ที่ปารีสให้สัตยาบัน ….  ( ก็จะลงนามอย่างไรได้ คนเซนต์กำลังจะชะตาขาด ถูกกองทัพเยอร มันจ่อคอหอยอยู่ )   พอเยอรมันจัดตั้งรัฐบาลวีซี่ ขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นมหามิตรของเยอรมัน ก็เข้าเจรจา ขอให้กองทัพญี่ปุ่น ใช้เมืองฮานอย และเมืองไฮฟอง เป็นฐานทัพเพื่อเตรียมรุกใหญ่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป ฝรั่งเศสก็ถูกเยอรมันบีบคอให้ตกลงยินยอม ….

๓ สิงหาคม ๒๔๘๔
   ญี่ปุ่น  ส่งทหารเข้าไปในอินโดจีน ๓๕,๐๐๐ คน ทำให้สนธิสัญญาไม่รุกรานกับไทย  …. ถึงลงนามไป ก็ไร้ความหมาย รัฐบาลไทยได้ประท้วงไปยังรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส อย่างรุนแรงว่า การยินยอมต่อญี่ปุ่นเช่นนั้น เป็นอันตรายแก่ประเทศไทย ฉะนั้นหากฝรั่งเศส จะรักษาอธิปไตยในอินโดจีนไว้ไม่ได้แล้ว ไทยก็จำเป็นต้อง เรียกร้องเอาดินแดนคืน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ ….

ครั้นเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส แจ้งกลับมาว่า ” รัฐบาลวีซี่ ขอให้สนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศไทย กับฝรั่งเศส มีผลใช้บังคับได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอการลงนามแลกเปลี่ยนสัตยาบัน”  รัฐบาลไทยจึงตอบฝรั่งเศสกลับไปว่า  ไทยยินดีจะรับตกลง หากฝ่ายฝรั่งเศส ยอมรับเงื่อนในเรื่องต่างๆ  คือ ให้วางแนวเส้นเขตแดนลำแม่น้ำโขงใหม่ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ แทนที่จะกำหนดให้เกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขงเป็นดินแดนของฝรั่งเศส และขอดินแดนลาวและเขมรที่ได้จากไทยไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ คืนให้แก่ไทยทั้งหมด

    ระหว่างนี้ในเมืองไทยเริ่มมีการ  “ปลุกกระแส”  ขึ้นแล้วว่า   “ถึงคราวที่ ลูกหลานไทย จะต้องเอาคืนจากฝรั่งเศสบ้างแล้ว  หลังจากที่ได้ข่มเหงย่ำยีไทยไว้  เมื่อ  ร.ศ.๑๑๒ ” คณะรัฐบาลหลวงพิบูลเอง มีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย….   นายปรีดี คัดค้าน โดยมีเหตุผลว่า

   …  “การเรียกร้องดินแดนของไทย คืนจากฝรั่งเศส  เป็นสิทธิโดยชอบธรรมก็ถูกอยู่…. แต่ควรจะกระทำในขอบเขตสันติวิธี และการดำเนินการทางการทูต มิใช่การทหาร การรบในยุโรป เยอรมันกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบก็จริง แต่ก็เร็วเกินไป ที่จะมั่นใจว่า คือผู้ชนะสงครามในที่สุด  ? ขณะนั้น สหรัฐอเมริกายังไม่ได้ขยับปืนเลย หากปรากฏภายหลังว่า ฝรั่งเศสกลับมาเป็นฝ่ายชนะ ไทยจะต้องเสียหายหนักเข้าไปใหญ่”

แต่หลวงพิบูลฯ ก็เพียงแต่รับฟัง หาได้เชื่อไม่

   ยังคงเดินหน้า ใช้ทุกสื่อฯ  “เติมเชื้อเพลิง”  จนเลือดรักชาติของคนไทย เดือดพล่าน ควันไฟออกหู รอเมื่อไหร่ท่านผู้นำจะชักธงรบ  ให้เข้าประจัญบาน !!!

หลวงพิบูลโบกมือให้ผู้เดินขบวนในท่าของท่านผู้นำระดับโลก
หลวงพิบูลโบกมือให้ผู้เดินขบวนในท่าของท่านผู้นำระดับโลก

 

 

ครั้นฝรั่งเศสตอบบันทึกของไทยกลับมาว่า …

 “ไม่รับหลักการที่จะยกดินแดนคืนให้ไทยทั้งสิ้น”    แต่ เพื่ออนุโลมตามคำขอของไทย เรื่องร่องน้ำ รัฐบาลฝรั่งเศส จะให้ผู้เชี่ยวชาญจากอินโดจีนมาประชุมที่กรุงเทพ เรื่องปัญหาเกาะในลำน้ำโขง ที่ฝรั่งเศสหักคอว่าเป็นของลาว และเขมรหมด ฝรั่งเศส เคยยินยอมว่า  เรื่องนี้ จะให้มีการหยิบยกขึ้นมาเจรจาได้ เพราะไทยให้คำมั่นไว้ก่อนหน้าว่า จะไม่เรียกร้องดินแดนส่วนอื่นอีก และสำทับเป็นเด็ดขาดว่า ฝรั่งเศสจะรักษาสถานภาพของตนต่อการรุกราน ไม่ว่าจะมาจากทิศทางใด …

ประยูร-ภมรมนตรี
ประยูร-ภมรมนตรี

พอฝรั่งเศสตอบอย่างนั้น พันโทประยูร ภมรมนตรี รองอธิการบดี ก็ชักใยนิสิตจุฬาลงกรณ์เป็นผู้นำเดินขบวน เรียกร้องให้ รัฐบาล ใช้กำลังทหารยึดดินแดนคืนทันที สำหรับธรรมศาสตร์ พอมีข่าวว่  านิสิตจุฬาจะเดินขบวน นักศึกษาก็เคลื่อนไหว จะเข้าร่วมด้วย ท่านอธิการบดี ปรีดี เลยเรียกประชุมนักศึกษาในเวลาเดียวกับกำหนดเดินขบวน นักศึกษามากันล้นห้องประชุม นึกว่าอาจารย์ จะพูดอุ่นเครื่องก่อนเวลา แต่ไหนได้ ท่านก็กลับเลกเช่อร์ เรื่องสงครามยุโรป ใครจะแพ้ใครจะชนะ ไทย คือกระจอก ในสังคมโลก ที่ควรจะวางตนเองอย่างไร ยังไม่ทันจบ ขบวนของจุฬา ก็เดินร้องเพลงกึกก้อง มาทางถนนราชดำเนิน นักศึกษาในห้องประชุม ก็เฮไปกับแกนนำ ร่วมเดินขบวนแบกป้าย มุ่งสู่กระทรวงกลาโหมไปสมทบกับจุฬา ก่อนที่อาจารย์ปรีดีจะเลกเซ่อร์จบ …
หลวงพิบูลกำลังลุ้นใจระทึกว่านักศึกษาธรรมศาสตร์จะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ ???  …. เพราะมีรายงานว่า นายปรีดี  เรียกประชุมด่วนดักหน้าไว้ พอมีเสียงตะโกนแว่วๆ ว่าขบวนนักศึกษาธรรมศาสตร์ เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยมาแล้ว หลวงพิบูลถึงกับยิ้มออก แล้วออกไปยืนรอเล่นบทพระเอกบนระเบียงตึก จบลงด้วยการ ลงมานำทุกคนสาบานต่อพระแก้วมรกต ว่าจะรบจนเลือดหยาดสุดท้าย เพื่อเอาดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดไปคืนมาเป็นของไทยให้ได้ …

ผลกระทบจากสงคราม

พอเจรจากันไม่รู้เรื่อง ฝรั่งเศสก็เตรียมตัวทำสงคราม

      พลเมืองในอินโดจีน ถูกหมายเกณฑ์ให้ไปรายงานตัว เพื่อบรรจุเข้าเป็นพลทหาร ตามกองพันทหารต่างด้าวต่างๆ พระยาทรงสุรเดช  ท่านรอดตัวไป ไม่โดนหมาย แต่ ร้อยเอกสำรวจ โดนพร้อมๆ กับชายไทยอีกหลายคน ไม่ว่าจะทำหนังสือร้องทุกข์ หรือร้องเรียนใดๆ ก็ไม่เป็นผล

     สุดท้ายจะเอาเป็นทหารก็ยอมละ … แต่ขอยศกันหน่อย เพราะเคยเป็นนายทหารสัญญาบัตร อย่าให้ขนาด เป็นพลทหารเลย …แต่ … เขาก็ไม่รับฟังใดๆ ทั้งสิ้น ต้องรายงานตัวตามกำหนด….

นอนโรงทหารไปคืนหนึ่ง เช้ากำลังรอรับเครื่องแบบทหาร มองสิเออร์เซมเปร นายตำรวจผู้ดูแลพวกกบฎลี้ภัย ก็ปรากฏตัวขึ้น เหมือนสวรรค์ส่งมา ส่งหนังสือของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน สั่งการให้ผู้บังคับการกรมฯ ให้ปล่อยตัว นายทหารไทย ที่ถูกหมายเกณฑ์เป็นอิสระ !!!

หายใจโล่งอกอยู่ได้สามวัน

พอกองทัพไทยเข้าประชิดตลอดแนวพรมแดนติดต่อระหว่างกัน รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส  ก็มีคำสั่งด่วน ให้อพยพ อดีตนายทหารทั้งหมดออกจากพนมเปญ ไปอยู่เมืองญวน ภายในสามชั่วโมง เพราะความไม่ไว้วางใจ และในคำสั่งยังระบุให้ไปรายงานตัวต่อตำรวจในไซ่ง่อนทุกๆสามวันอีกด้วย

ความซวยไม่จบ ของคนที่บ้านเกิดเมืองนอนไม่ต้องการ

  ประเทศที่คุ้มกะลาหัว ก็กลับไม่ไว้วางใจ อดีตนายทหารผู้น่าสงสาร จึงพาครอบครัวบ่ายหน้า ไปหาพระยาทรงฯ ในไซ่ง่อน สุภาพบุรุษใจกว้าง ที่อาศัยอยู่ในห้องแถวแคบๆ ห้องนอนเดียว พื้นที่รวม กว้างสาม ยาวหกเมตรนั้น นอกจากเป็นห้องนอนของสามคนพ่อแม่ลูกแล้ว ก็เป็นครัว ห้องอาหาร และห้องรับแขก   … แต่ยินดีต้อนรับทุกคนด้วยความเต็มใจ  !!!

    รวมทุกชีวิตที่จะอยู่ในรูหนูนั้นแล้วสิบคนพอดี

    และด้วยความเป็นผู้ดีของท่าน ท่านยืนยันให้ครอบครัวหลวงรณสิทธิ์พิชัย ลูกน้องเก่านอนในห้อง ส่วนท่านผู้เป็นเจ้าของบ้านออกมากางเตียงผ้าใบนอนนอกระเบียง โดยไม่ยอมฟังเสียงวิงวอนของหลวงรณฯ ที่จะขอสลับกัน ….

คนเรานั้นคับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก
การที่มีคนมาอยู่เยอะๆก็ดี ในด้านช่วยกันทำมาหากิน…

 

สลับฉากมาทางเมืองไทย

ทุกคนใจจดจ่ออยู่กับที่จะได้ตามท่านผู้นำ ไปล้างแค้นฝรั่งเศส !!!

      อาวุธสงครามที่ทุ่มทุนมหาศาลซื้อมาใหม่ๆ ก็ร้อนฉ่า อยากสำแดงพลังอำนาจเต็มที แต่. .เดี๋ยวนะครับ !!! ยังรบไม่ได้ การที่อยู่ๆ ประเทศปลายแถวอย่างไทย จะส่งทหารไปรบกับใคร ?  โดยที่มหาอำนาจหัวแถวไม่รู้ไม่เห็นด้วยนั้น อย่าได้คิดนะครับ …. ยิ่งสมัยนี้ยิ่งไม่ต้องคิดใหญ่

พอหลวงพิบูลฯ อยากจะรบอินโดจีนฝรั่งเศส ก็ส่งทูตออกเป็นสองสาย สายแรกไปยุโรป เข้าหาเยอรมัน เจ้าของฝรั่งเศสเมืองขึ้น อาศัยเส้นพระยาพหล เพื่อนนักเรียนนายร้อยไกเซอร์รุ่นเดียวกันแบบซี๊ปึ่ก กับนายพลเกอริง แม่ทัพใหญ่ของนาซี ให้พระประศาสตร์ อดีตผู้ก่อการที่ถูกส่งไปเป็นทูตอยู่เบอร์ลิน ประสานให้ พันโทประยูร ภมรมนตรี (ลูกครึ่งแม่เยอรมัน) เป็นทูตพิเศษของรัฐบาลไทย ไปพบ นายพลเกอริง จึงเปิดอกพูดว่า …

“ไอเจรจากับไอ้เศสให้แล้วว่ะ แต่มันไม่ยอม” …. เอางี๊แล้วกัน มันดื้อนัก พวกยูก็อัดมันซะ แต่เอาแค่เบาะๆนะโฟ้ย อย่ารุกเกิน ดินแดนที่มันเอาจากยูไป เดี๋ยวจะยุ่งไม่จบ….

หลังจากนั้น ก็ชวนกินเบียร์กับขาหมูทอดหนังกรอบต่อ ไม่พูดการเมืองอีก ….

ส่วนญี่ปุ่นนั้นไม่ไปก็ไม่ได้ เพราะกองทัพญี่ปุ่น อยู่ในเมืองญวน เต็มไปหมด บังเอิญแม่ทัพโตโจ ก็นักเรียนเก่าโรงเรียนนายร้อยไกเซอร์ รุ่นเดียวกับเกอริง และพระยาพหลฯ เหมือนกัน น่าจะคุยกันได้ เรื่องนี้ญี่ปุ่นบ่จอย สักเท่าไหร่ เพราะตามแผนแล้ว เล็งจะเอาไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสเป็นพันธมิตร …. ไม่อยากให้รบกันเอง เปลืองไพร่พลอาวุธ น่าจะถนอมไว้รบกับศัตรูของญี่ปุ่นมากกว่า

แต่ก็ไม่อยากขัดใจไทย เพราะกำลังจีบ ให้ร่วมวงศ์ไพบูลย์มหาเอเซียบูรพาด้วยกัน และฝรั่งเศสในอินโดจีนมันทำท่าจองหองอยู่ ญี่ปุ่นกำลังอยากจะยูโดสั่งสอนเสียสักป้าบ แต่จะให้ไทยเตะสวาบแทนก็ได้ จึงพยักหน้ารับรู้ แต่ปากก็พูดว่า “ญี่ปุ่นขอเป็นกลาง” เพราะเตรียมจะเข้าตีจีนทางอ่าวตังเกี๋ยอยู่ ไม่มีเวลาจะสนใจเรื่องนี้

ทูตทหารทั้งสองคณะ ก็กลับไปรายงานให้ท่านผู้นำได้รับทราบ เป็นอันว่าทุกอย่างพร้อมที่จะเป่านกหวีดเล่นเกมสงครามกันแล้ว ….. !!!

ตัดกลับมาที่บ้านพระยาทรงในไซ่ง่อนต่อ ….

    คนทั้งสิบประชุมกันแล้ว เห็นว่า คนมาอยู่กันเยอะๆ ก็น่าจะทำขนมกล้วยแบบไทยๆ ลองขายให้คนญวนดู เพราะลงทุนน้อย ทำไม่ยาก แต่ต้องใช้แรงงานมาก เพราะต้องโม่แป้ง ซึ่งเป็นงานหนักเท่านั้น


ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน**** ผมเกิดทันพอที่จะได้เห็นการใช้โม่หินในภาพข้างล่าง เขาจะเอาข้าวสารแช่น้ำสักพักแล้วหยอดลงไปในรูด้านบน หลังจากนั้นก็ใช้ด้ามไม้หมุนหินตัวบน บดกับแท่นหินด้านล่าง จนข้าวละเอียดเป็นแป้งเหลว ใหลออกมาลงภาชนะที่รองรับ แต่ทำได้ไม่นานคนโม่ก็เหงื่อไหลไคลย้อย

โม่ใช้มือหมุนแบบโบราญ-ทำจากหินแกรนิต
โม่ใช้มือหมุนแบบโบราญ-ทำจากหินแกรนิต

พระยาทรงสุรเดช ท่านรับหน้าที่คนบด วันละหนึ่งชั่วโมง ท่านบอกว่า ได้ออกกำลังกายดี ส่วนงานเอาผลกล้วยสุกงอมมาขยำกับแป้งและน้ำตาล ท.ส.เป็นคนทำ ผู้หญิงมีหน้าที่เอาใบตองมาตัดเป็นชิ้นๆและห่อขึ้นรูป เพื่อเอาไปนึ่ง แรกๆลองทำวันละสามสี่ร้อยห่อ ให้ร้อยโทผล นายทหารม้าที่ตามพระองค์เจ้าบวรเดช มาอยู่เมืองญวนหลายปีแล้ว พูดภาษาญวนได้ พาออกตลาดเพื่อฝากขายตามแผงขายขนมต่างๆ ห่อละหนึ่งเซนต์ ก็พอขายได้ และเริ่มขยับยอดขายขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยถึงพันห่อสักครั้งเดียว

“ …. ต่อมาจะทำขนมถั่วกวน , ข้าวเหนียวตัดออกเสริม แต่ก็ขายไม่ดีเท่าจึงเลิกไป กำไรที่ได้ ก็แค่พอเป็นค่าอาหารวันหนึ่งๆ คำนวณรายได้เฉลี่ยต่อคนแล้วถูกกว่าค่าแรงกรรมกรเสียอีก….”

โดยปกติพระยาทรงฯ จะมีแขก ที่เป็นชาวญวน ชาวฝรั่งเศส ที่เคยรู้จักสมัยที่ท่านยังมีตำแหน่งราชการในเมืองไทยแวะมาเยี่ยมบ้าง

วันหนึ่ง ขณะที่กำลังทำขนมกล้วยเป็นการใหญ่ อดีตข้าหลวงฝรั่งเศส เมืองพระตะบองมาเยี่ยม เขาแสดงท่าทางเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของท่าน แม้ตลอดเวลาของการสนทนา ท่านจะมิได้ปริปากเพียงนิดเดียว ถึงความทุกข์ยาก ที่กำลังประสบอยู่ …. วันรุ่งขึ้น ชาวฝรั่งเศสผู้นั้นให้คนถือจดหมายมาพร้อมเงิน ๘๐๐ เหรียญบรรจุอยู่ในซอง มีข้อความสั้นๆว่า…

“เขาขออภัย… โปรดอย่าคิดว่าเขาหมิ่นเกียรติของท่านเลย แต่หลังจากเมื่อวันวานแล้วเขาคิดว่า เขาจะผ่านไปโดยไม่ช่วยเหลือท่านอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ ขอให้ท่านกรุณารับความปรารถนาดีของเขาด้วย …”

พระยาทรงท่านตอบขอบคุณเขา ฝากไปกับคนเดินหนังสือ ….นั่น ….

เงิน ๘๐๐ เหรียญมากเท่ารายได้จากการขายขนมกล้วยเกือบหนึ่งแสนห่อ !!!

มีค่าเท่ากับค่าใช้จ่าย ของคนทั้งบ้านสี่เดือน แต่ไม่ทำให้ชายผู้นี้เปลี่ยน แม้ท่านจะรู้สึกขอบคุณ และมิได้ตำหนิความเมตตาของผู้ให้

…. ทว่า คนอย่างท่าน ไม่สามารถรับเงินจากใครที่ไม่ทราบที่มาที่ไปได้ … เงินก้อนนี้ อาจจะมาจากรัฐบาลอินโดจีน ก็ได้ พระยาทรงสุรเดช ตัดสินใจ ยอมอดตาย เสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติ ….

คนฝรั่งเศส ที่คบหาเป็นเพื่อนผู้น้อยของท่านอีกคนหนึ่งชื่อ มองซิเออร์ วิกเตอร์ บูเกย แม่เป็นคนไทย เคยเรียนหนังสืออยู่ที่อัสสัมชัญ ท่านเรียกตามชื่อเล่นที่เพื่อนตั้งให้เขาตอนเป็นเด็กว่า อาบู   ….   ท่านติดต่ออาบู ให้พาท่านนำเงิน ๘๐๐ เหรียญที่ได้มานี้ ไปบริจาคให้สภากาชาดของอินโดจีน …. และก็เป็นตามที่คาดไว้ เรื่องดังกล่าวถึงหูคนของรัฐบาลอินโดจีนจนได้

ต่อมา  อาบูได้มาเล่าให้ฟังว่า มองซิเออร์ เซมเปร ทราบเรื่องเข้า ก็ได้กล่าวติเตียน ผู้ที่นำเงินมาให้ท่านว่า คนอย่างพระยาทรงฯ ไม่มีวันจะรับเงินด้วยวิธีนี้เป็นอันขาด ….

     ดังนั้น อีกต่อมาไม่นาน จึงมีนายทหารฝรั่งเศส มาที่บ้านของท่าน หลังจากแสดงความเคารพแล้ว  ก็แจ้งว่า พลเรือเอก ฌ็อง เดอกูซ์ ผู้สำเร็จราชการใหญ่แห่งอินโดจีน ให้มานัดหมาย เพื่อขอเรียนเชิญพันเอก พระยาทรงสุรเดช ไปพบ …

Admiral Jean Decoux พลเรือเอก ฌ็อง เดอกูซ์ ผู้สำเร็จราชการใหญ่แห่งอินโดจีนฝรั่งเศส
Admiral Jean Decoux พลเรือเอก ฌ็อง เดอกูซ์ ผู้สำเร็จราชการใหญ่แห่งอินโดจีนฝรั่งเศส

    ครั้นถึงเวลา พระยาทรงในชุดสากล ผูกหูกระต่าย ก็เดินไหล่ผึ่ง นำหน้านายทหารฝรั่งเศส ไปขึ้นรถเก๋งคันยาวที่ท่านผู้สำเร็จราชการส่งมารับไปดินเนอร์ร่วมกัน

เริ่มบทสนทนาผ่านล่าม โอภาปราศรัย ถามสารทุกข์สุกดิบ ตามธรรมเนียมการทูต แสดงความเสียใจ และแสดงความขอบคุณต่อกันและกัน ระหว่างดื่มผ่อนคลายอารมณ์แล้ว ท่านผู้สำเร็จราชการก็เข้าเรื่อง  สงครามระหว่าง ฝรั่งเศส กับไทย ที่กำลังจะเกิดในวันสองวันนี้ แล้วถามพระยาทรงตรงๆ ว่า …

“ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ? ”

พระยาทรงฯ ตอบคำถามที่ว่า ตามความจริงใจของท่าน ….

“ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่เลือกใช้วิธีการก่อสงคราม”   เพราะผู้คุกคามประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นั้น คือผู้จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง จากผลของการสู้รบ ส่วนในระยะยาวแล้ว ท่านคิดว่า ฝ่ายสัมพันธมิตร ที่มีประเทศมหาอำนาจผนึกกำลังกันมากกว่า จะเป็นฝ่ายชนะ


ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตนพระยาทรงฯ ท่านไม่ใช่คนพูดมาก ยิ่งท่านต้องระมัดระวังคำพูดเป็นพิเศษ มิให้เสียหายต่อประเทศชาติ…. เมื่อถูกถามเกี่ยวกับกำลังรบของไทย ท่านก็จะเปิดเผยแต่สิ่งที่คิดว่าฝรั่งเศสรู้อยู่แล้ว   “ …. หลวงพิบูลฯ เคยเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพิ่งได้รับส่งมอบ เข้ามาตั้งแสดงอวดที่ท้องสนามหลวง แนวที่ห้าของฝรั่งเศสก็ถ่ายภาพส่งมาไซ่ง่อน จนไม่เป็นความลับอะไรอีก ท่านก็ให้ความเห็นไป” ….

ส่วนคำถามคำตอบเรื่องที่เกี่ยวกับการทหารอื่นๆ ท่านอาจจะพูดไปบ้าง …. แต่ขอให้เชื่อเถอะ เรื่องการรักษาความลับของนายทหารผู้นี้   ต้องดูคราวก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน เพื่อนฝูงพยายามจะซักถามว่าเสธฯ.จะเอาทหารที่ไหนมาทำการปฏิวัติ ท่านก็ชวนคุยเรื่องอื่น ขนาดพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะผู้ก่อการ ยังได้ทราบเอาในตอนเช้าตรู่ของวันที่ปฏิบัติการนั้นเลย


ดังนั้น เรื่องที่พลเรือเอก ญัง เดอกูซ์
จะได้อะไรจากท่านไปได้บ้างนั้น
ไม่เป็นโล้เป็นพายแน่นอน…

หลังจากคืนนั้นแล้ว ผ่านไปได้ไม่กี่วัน ทั้งสองชาติ ต่างกล่าวหากัน เรื่องการส่งเครื่องบินรบ เข้าไปก่อกวนอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วกองทัพไทย ก็บุกข้ามพรมแดนอินโดจีน  สงครามที่มิได้ประกาศ จึงได้เริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบ เกิดการรบทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือ ที่ต่อมาเรียกอย่างเป็นทางการว่า “กรณีย์พิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส”…

ระหว่างที่ฝรั่งเศสกำลังรบกับไทย ง่วนอยู่นั้นเอง ญี่ปุ่น ก็ถือโอกาสเพิ่มกำลังพลเข้ามาในญวนจนเต็มไซ่ง่อนไปหมด พอเห็นว่า ทั้งคู่ซัดกันพอหอมปากหอมคอ สูญเสียทั้งสองฝ่ายพอประมาณแล้ว ก็ดำเนินการเข้าไกล่เกลี่ยทันที   เรือประจันบาน นาโตริ ที่ลอยลำอยู่ในทะเลหลวง ก็แล่นเข้าไปทอดสมอเพื่อบีบกระเดือกฝรั่งเศส ถึงแม่น้ำหน้าเมืองไซ่ง่อน …. แต่กับไทย แค่แจ้งให้ทราบ หลวงพิบูลฯ ก็รีบส่งคณะทูตไปเซ็นสัญญาหยุดยิง บนเรือรบของญี่ปุ่นทันที

การเจรจาดำเนินต่อไปเล็กน้อย ก็ได้ข้อยุติ

ไทยได้ดินแดนกลับคืนมา สี่จังหวัด คือ จำปาสัก , ศรีโสภณ , มงคลบุรี  และพระตะบอง แล้วไทยกับฝรั่งเศส ก็ไปลงนามในอนุสัญญาสันติภาพ ที่กรุงโตเกียว เมื่อ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ซึ่งหลวงพิบูลประกาศว่า เป็นชัยชนะของไทย และเริ่มต้นโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ยังดำรงคงอยู่มาจนทุกวันนี้ ….

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ต่อจากนั้น ไปก็เข้าสู่ยุคเฟื่องที่สุดของชายที่ชื่อ “แปลก”

ท่านได้เลื่อนยศรวดเดียว จากพลตรีเป็นจอมพล คนทั้งเมืองก็เรียกท่านว่า “จอมพล” บ้าง “ท่านผู้นำ” บ้าง ….

ครั้นท่านอยากจะเป็นสมเด็จเจ้าพญา แบบเขมร ก็โดนนายปรีดี เบรกในที่ประชุม ค.ร.ม.ว่า  ขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร จอมพลหลวงพิบูลไม่พอใจมาก เลยแก้เกี้ยว เสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือ

ทางหนึ่ง ตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ หรือไม่ ? ก็ ต้องเลือก ทางที่สอง คือ เวนคืน เลิกใช้ บรรดาศักดิ์เดิมของทุกคน …

รัฐมนตรีส่วนมาก เลือกอย่างหลัง ท่านจอมพล จึงเสนอว่า เมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์แล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุล ตามชื่อบรรดาศักดิ์ที่เป็นอยู่ก็ได้ ….

ประชาสัมพันธ์

ตัวท่านเอง ได้เปลี่ยนนามสกุลจาก ขีตตะสังคะมาเป็น พิบูลสงคราม แต่ชื่อ แปลกก็แปลกไปหน่อย เลยย่อเสียนิด เป็น จอมพล ป.พิบูลสงคราม คนเรียกสั้นๆว่าจอมพล ป.

**** ดังนั้น ผมจึงจะปรับตัวเอง ให้ทันสมัย ด้วยการเรียกท่านว่าจอมพล ป. แทนหลวงพิบูล นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

…. อ้อ ครับ เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสคุยกับท่าน ในระหว่างการรับประทานอาหารคืนวันนั้น คือ ถ้าพระยาทรงฯ จะรวบรวมคนไทย จัดตั้งขบวนการแบบฝรั่งเศสเสรี แล้วเขายินดีจะสนับสนุน แต่ตอนนั้น ไทยกำลังจะรบกับฝรั่งเศส อยู่รอมร่อ ท่านจึงได้แค่รับฟัง แต่เมื่อศัตรูของทั้งสองฝ่ายมีความชัดเจน ญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาอยู่เต็มเมืองไทยแล้ว ท่านจึงอยากจะหาคนที่จะเป็นตัวกลางประสานงานกับคนในกรุงเทพเพื่อทำอะไรสักอย่างเตรียมต่อต้านญี่ปุ่น ….


บทความ |เรียบเรียง
โดย  :  ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน


โปรดติดตามตอนต่อไป :   ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article