miscellaneous

ชะตากรรมของ พระยาทรงสุรเดช | ตอนที่ ๑๓ ไม่มีวิธีใด ที่จะทำให้มือสะอาดดีเท่ากับซักเสื้อผ้า

สู่อินโดจีนฝรั่งเศส

พระยาพหลฯ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อได้ข่าวแว่วๆว่า  นายกฯคนใหม่ จะเล่นเกมโหด ก็ยังเลือกที่จะหลบออกจากกรุงเทพไปตั้งหลัก อยู่กับลูกน้องเก่าผู้ภักดี ในกรมทหารปืนใหญ่ โคกกระเทียม เอาตัวเองปลอดภัยไว้ก่อน เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แน่ใจว่าเป้าหมายไม่ครอบคลุมถึงท่านแน่ พระยาพหลฯ จึงเดินทางกลับพระนคร ….
ต่อมามีข่าวว่า ท่านได้ขอชีวิตเหยื่อการเมืองไว้ได้ ๓ คน ที่เหลือเขาไม่ยกให้ !!!

จากเรื่องราวของคดี กบฎพระยาทรงฯ ที่ศาลพิเศษ ๒๔๘๒ ตัดสินประหารชีวิต ผู้บริสุทธิ์ ๑๘ คน และจำคุกทั้งระยะยาว และตลอดชีวิต ฝ่ายที่ตนคิดว่าเป็นศัตรู อีกจำนวนมากนั้น   เป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งที่ผมจะแยกไปเขียนต่อจากเริ่องนี้ครับ ….

ย้อนกลับมา ในวันที่พระยาทรงฯ
ถูกกุมตัวไปปล่อยลงที่ชายแดนเขมร 
รัฐบาลออกคำแถลงแล้วต่อท้ายว่า….

“เพื่อตอบแทนคุณงามความดี ที่ได้เคยกระทำมา จึงได้สั่งให้เนรเทศ พระยาทรงสุรเดช ไปอยู่ในอินโดจีน”

     ไม่ยักบอกว่า ผู้ก่อการคณะราษฎร สาบานไว้ว่า “จะไม่ฆ่ากันเอง”  นะครับ พอได้ข่าวจากวิทยุ ครอบครัวและเพื่อนฝูง ที่กล้าๆหน่อย ก็พากันไปที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อรอส่งพระยาทรงสุรเดช แต่ถูกทหารกันไว้หมด ไม่ให้เข้าไปในตัวอาคารได้ นักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์พระยาทรงฯ  เขียนเล่าว่า….. “ท่านบอกไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าถูกปลดด้วยเรื่องอะไร และไม่สนใจด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป รู้สึกขอบคุณรัฐบาล ที่ให้ไปพักผ่อน ดีเหมือนกัน จะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเสียที …..”

พระยาทรงสุรเดช ชะตากรรม
คุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง) ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของพระยาทรง

พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้รับความยุติธรรมเท่าๆ กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง… ท่านมีเวลาวันสองวัน ก่อนที่จะรู้ตัวว่าจะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเผชิญชะตากรรม ไม่รู้จะเตรียมตัวเตรียมใจได้แค่ไหน และจะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขตามที่พูดปลอบใจตนเองหรือเปล่า ?

พระยาทรงฯ  ไม่มีเงินติดตัวมากนัก  รัฐบาลไล่ท่านออก โดยไม่มีเบี้ยหวัด เบี้ยบำนาญ ท่านจะต้องใช้จ่าย อย่างประหยัดที่สุด สิ่งที่ท่านทำได้ขณะนั้น ก็คือ เช่าบ้านไม้โกโรโกโส  ในราคาเดือนละ ๒๑ บาท ในพนมเปญ อยู่กันสองคน กับร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิท รอการติดต่อ จากครอบครัวของท่าน ที่กำลังรวบรวมทรัพย์สินเงินทอง จะมาร่วมเป็นร่วมตายกับท่าน ….

 เมื่อคุณหญิงห่วง และคุณเทพี บุตรสาว ได้เดินทางมาสมทบ ปรึกษาหารือกันแล้ว  คิดว่า พวกผู้หญิงจะช่วยกันทำข้าวแกง แบบไทยๆ ขาย น่าจะมีคนเขมร มาอุดหนุนเยอะ  และคงจะเลี้ยงชีวิตอยู่ไปกันได้  … ความจริง ท่านมีลูกชายคนโตชื่อ ทศ พันธุมเสน โชคดีที่ได้รับทุนไปศึกษาที่อังกฤษเสียก่อนจะมีเรื่อง ในช่วงสงคราม ทศได้สมัครเข้าเป็นเสรีไทยด้วยคนหนึ่ง ….

เรื่องกิน เรื่องอยู่ ยังไม่ทันจะลงตัว
ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในอินโดจีน
รัฐบาลกลางที่ปารีส สั่งให้หน่วยงานของทางการในเขมร และลาว ไปรวมศูนย์ที่ ไซ่ง่อน เพื่อเตรียมรับสถานะการณ์สงคราม ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน จึงมีหนังสือ สั่งให้ พระยาทรงสุรเดช โยกย้ายตามไปอยู่ที่ไซ่ง่อนด้วย บุคคลสำคัญระดับนี้ ไม่ควรปล่อยไว้ไกลหูไกลตา ใครจะไปรู้ อาจจะเป็นไส้ศึก ที่ทำทีมาสวามิภักดิ์ เหมือนหนุมาน เมื่อได้ที ก็เผาเมืองลงกาเสียเลยก็เป็นได้ …

พระยาทรงไปไซ่ง่อน กับ ท.ส. คู่ใจเพียงสองคนก่อน

ชะตากรรม พระยาทรงสุรเดช
ร้อยเอกสำรวจ กาณจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิทผู้จงรักภักดีต่ออาจารย์เป็นที่สุด

โดยมี มองซิเออร์เซมเปร นายตำรวจใหญ่แห่งเมืองพนมเปญ ประกบตัว พานั่งรถโดยสารประจำทางชั้นหนึ่งของฝรั่งเศส ไปตลอดทาง จากเช้าถึงเย็น พระยาทรงฯ ท่านหวังว่า จะยื่นเรื่องขอผ่อนผัน ให้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่พนมเปญได้ แต่เมื่อพบกับผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนแล้ว เขาบอกว่า เรื่องนี้ทางปารีสสั่ง ถ้าจะขอผ่อนผัน  ต้องส่งคำขอไปให้ปารีสอนุมัติ จะรู้ผลประมาณหนึ่งเดือนเศษ….   ระหว่างนี้ ท่านต้องรอไปก่อน ส่วนร้อยเอกสำรวจ นั้น จะกลับไปพนมเปญเมื่อไหร่ ก็ย่อมได้ ทางการไม่ขัดข้อง แม้จะฟังดูว่า เป็นการพูดแบบนักการทูต แต่ก็สร้างหวังให้กับท่านได้มาก ….

เมื่อรู้ตัวว่าต้องอยู่ยาว อย่างน้อยก็เป็นเดือน ท่านจึงย้ายออกจากโรงแรม ขอร้องให้ มองซิเออร์ เซมเปร พาไปหาบ้านเช่าราคาถูกๆ ให้    ตระเวนดูกันหลายแห่ง ในที่สุด ก็ได้ห้องแถวใน ย่านดาเกา ชานเมืองไซ่ง่อน ราคา ๓๕ ดองหรือ ๒๘ บาทต่อเดือน …. พออยู่ได้

หลังจากนั้น มองซิเออร์เซมเปร  ก็ใจดี พาท่านเที่ยวชมเมือง ให้รู้จักถนนหนทาง ดื่มเบียร์ ดื่มน้ำหวาน พอเพลิดเพลิน แล้วพาไปทานอาหารเย็นที่ภัตตาคารจีน ที่ย่านเจ๋อเล้ง ฝรั่งเรียกโชลอง(Cholon) หรือเยาวราชของบ้านเรา ก่อนจะลากลับพนมเปญในวันรุ่งขึ้น …

ไม่มีวิธีใด ที่จะทำให้มือสะอาดดี เท่ากับซักเสื้อผ้า

ชีวิตต่อจากนั้น ก็เหมือนตอนที่จากเมืองไทยไปอยู่พนมเปญใหม่ๆ สองคนอาจารย์กับลูกศิษย์ ต้องช่วยตัวเอง ทำอาหาร กวาดบ้านถูบ้าน และซักผ้าของใครของมัน พระยาทรงฯ บอกว่า ไม่มีวิธีใด ที่จะทำให้มือสะอาดดีเท่ากับซักเสื้อผ้า ….

“ พระยาทรงสุรเดช เป็นนักปฏิวัติ ที่ยึดมั่นอุดมการณ์ มิใช่นักฉวยโอกาสที่จะแสวงอำนาจเข้ามากอบโกยหาความร่ำรวยให้ตนเอง ต่างกับพวกคณะราษฎรหนุ่มๆ ที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมมาก่อน เมื่อท่านสิ้นวาสนาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เงินทองที่เก็บหอมออมริบไว้ จึงมีไม่มากพอ ที่จะใช้จ่ายอย่างเคย เพราะต้องคำนึงถึงวันข้างหน้าด้วยว่าจะกินจะอยู่อย่างไร แล้วอีกนานแค่ไหน ….”

อาหารที่คนทั้งสองทำใส่ท้องในวันหนึ่งๆ จึงลดลงเหลือแค่วันละสองมื้อ เช้าและเย็น กลางวันดื่มน้ำต้มสุก กับข้าวอย่างเดียวกินกับข้าวสวยร้อนๆ ตอนหิว วนเวียนเมนูไประหว่าง ผัดผักกาด ผัดผักคะน้า ผัดผักบุ้ง ไข่เจียว ไข่ต้ม ไข่ทอด นานๆจึงจะมีหมูบะช่อสักทีหนึ่ง ตอนหลัง ท.ส.ไปตลาด เจอเป็ดย่างเจ้าหนึ่ง ขายถูกเพียงตัวละ ๒๐ สตางค์ เลยซื้อมาสลับบ้างในบางมื้อ …..

ระหว่างคอยคำตอบจากปารีส….
ด้วยเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้านั้น   พระยาทรงสุรเดช ได้ทำหนังสือถึง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอลาออกจากการเป็น ส.ส.ประเภท ๒ …. ต่อมาได้อ่านเจอข่าวว่า จดหมายของท่านฉบับนั้น เปิดโอกาสให้ ส.ส.ประเภท ๑ ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่า “เกิดอะไรขึ้นกับพันเอก พระยาทรงสุรเดช”  ทำไมรัฐบาลจึงได้ขับไล่ไสส่งท่านไป โดยไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ ??   แต่รัฐบาลไม่ตอบกระทู้นี้ และหลังจากนั้น ก็ไม่มีใครเอ่ยถึงท่านอีกเลย …..

จดหมายจากเมืองไทย ถูกเซนเซอร์ทั้งขาไปและขามา  จนญาติมิตร ระแวงว่า ถ้าเขียนถึงท่านบ่อยๆ อาจถูกสันติบาล หาเรื่องเล่นงานได้ ท่านจึงมีชีวิตอยู่อย่างหงอยเหงา เหมือนคนที่ถูกลืม สักพักหนึ่ง ก็เริ่มทำใจได้ และเริ่มต้นใช้เวลาว่างในการเขียนบันทึกความทรงจำ ….

หลังจากนั้น กว่าหนึ่งเดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้รับข่าว… พระยาทรงฯ ขอเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีน เพื่อติดตาม ได้รับแจ้งว่า ทางกระทรวงอาณานิคมที่ปารีส ได้ขอให้ทางนี้ส่งข้อมูลอีกสองสามประการไปให้เพื่อประกอบการพิจารณา กว่าจะได้รับคำตอบแน่นอน น่าจะเป็นอีก ๓ เดือนข้างหน้าเป็นอย่างเร็ว…

ข้อเท็จจริงก็คือ ฝรั่งเศส เริ่มมีความสงสัยว่า  “รัฐบาลหลวงพิบูลฯ สะสมกำลังทางทหาร และสั่งซื้ออาวุธสงครามมากมาย เพื่อเตรียมจะทำสงครามกับใคร…?”   กระทรวงอาณานิคม อยากทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริง รวมทั้งเรื่องราวลึกๆ ในสัมพันธภาพระหว่างหลวงพิบูลกับพระยาทรงด้วย …

แต่ ๓ เดือนสำหรับพระยาทรงฯ หมายถึง ค่าใช้จ่ายเดือนละสองร้อยกว่าเหรียญ
     แม้ผู้บัญชาการตำรวจ จะออกปากว่า รัฐบาลอินโดจีนยินดีจะช่วยเหลือเกื้อกูลทุกอย่าง ขอให้บอกเท่านั้น ท่านได้แต่แสดงความขอบคุณ …. เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครให้อะไรแก่ใครฟรีๆ ท่านยอมกลับมานอนคิดหนักว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไป ในเมื่อมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับเช่นนี้ ….

ระหว่างนั้น  คุณหญิงห่วงและบุตรสาว ได้เริ่มต้นกิจการขายอาหารไทย ที่พนมเปญแล้ว โดยมีลูกมือคนไทยอีกสองคนเป็นผู้ช่วย ..  แต่ยังชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่ เมื่อมีความจำเป็นบังคับ ก็ต้องสลับตัว เอาภรรยา และลูกมาช่วยดูแลงานบ้าน ที่ไซ่ง่อน และให้ ท.ส. ไปควบคุมกิจการร้านอาหารแทน …

ทุกข์ซ้ำกระหน่ำเติม

    มีข่าวร้ายๆ ทะยอยมาไม่หยุด หนังสือพิมพ์ลงข่าว  รัฐบาลไทยประหารชีวิตจำเลยในคดีกบฎ ๑๘ คน  ตามคำพิพากษาของศาลพิเศษ

     นับแต่ พระยาทรงฯ มาลี้ภัยอยู่อินโดจีนนั้น ท่านยังแสดงอาการปกติ แบบคนปลงตก มีปัญหาอะไร ก็แก้กันไป ไม่ยอมนั่งทนทุกข์ บัดนี้ข่าวที่ญาติมิตร และลูกศิษย์ลูกหา ผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านโดนโทษถึงตาย เพียงเพราะเคยเกี่ยวข้องกับท่านเท่านั้น ถ้ากระทำความผิดคิดร้ายจริง ก็ไปอย่าง แต่นี่  เป็นการปรักปรำกลั่นแกล้งกัน อย่างโจ่งแจ้ง

   ข่าวนี้จึงทำเอาท่านเศร้าซึมลงไปถนัดตา ….

ลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่ท่านอาลัยรักมาก คือ ร้อยโทเสริม พุ่มทอง   บิดาของเขาเป็นคนยากจน อยู่บ้านนอก ไม่สามารถส่งเสียบุตรชายได้ ท่านจึงได้รับอุปการะ และรักน้ำใจเด็กคนนี้มาก เมื่อถูกเอาตัวมาจองจำที่บางขวาง ท่านมีจดหมายไปถึงญาติให้ช่วยดูแลเสื้อผ้าอาหารให้เสริมด้วย เมื่อ ร้อยโทเสริม ถูกประหาร ท่านได้มีจดหมายสั่งการไปอีก ให้ญาติขายสมบัติทุกอย่างของท่าน ที่ยังอยู่ติดบ้าน ประเภทขันเงิน เครื่องเรือน เครื่องดนตรีไทย ซออู้ซอด้วง  ที่ท่านเก็บสะสมไว้เป็นของรัก  ปืนพกที่ตำรวจยึดไป ให้ขอคืนเอามาขายให้หมด  สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพร้อยโทเสริม และคนอื่นๆ ที่ไม่มีญาติมิตรจัดการให้ ขาดเหลือให้แจ้งมายังท่าน …

ระหว่างอยู่ที่ไซ่ง่อน
      ท่านยังหาทางออกไม่พบว่า จะหาเงินที่ไหนมาตู๊ค่าใช้จ่ายเดือนๆ หนึ่งกว่าสองร้อยเหรียญ  ในระหว่างการรอคอยเอกสารไปกลับของรัฐบาลอินโดจีนกับประเทศแม่ ที่บอกว่า สองสามเดือน อาจจะหมายถึงสี่เดือน คิดจะลดค่าใช้จ่ายโดยไปหาที่อยู่ราคาถูกกว่านั้น ก็ไม่ปลอดภัยเรื่องชาวบ้านที่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่ำทราม ทั้งโขมยขโจร และวาจามารยาท ของคนญวนระดับล่างสุด ผู้ดีไทยตกยาก พูดไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ ไปร่วมอยู่ในสังคมของเขาก็ผิดสีผิดกลิ่นเป็นอย่างยิ่ง …

ครั้นร้อยเอกสำรวจ ย้ายไปอยู่เขมรแล้ว ท่านมีความคิดที่จะทำการค้าแบบแลกเปลี่ยน เอาของญวน ที่คิดว่าคนเขมรต้องการ ส่งไปขาย   ให้ ท.ส.หาของเขมร ที่คิดว่าคนญวนต้องการ ส่งกลับมา เริ่มประเดิมด้วยการ ซื้อผ้าถูกๆ แต่ท่าทางจะทนทานไม่ขาดง่าย ส่งไปสองพับใหญ่ๆ เพราะคิดว่า จะถูกตลาดเพราะคนเขมร ยากจน ท.ส.ไปเดินตลาดเจ็ดวัน ขายได้สิบกว่าเมตร คนเขมรบอกว่าก็ถูกดีนะ แต่ตัดกางเกง นอกจากค่าแรงแพงกว่าค่าผ้าแล้ว ผ้ามันไม่ดิ้น ใส่แล้วไม่จี๊ดเหมือนผ้าฝรั่ง คนเขมรเงินเดือน ๓๐ เหรียญ แต่ก็ยินดีจะตัดกางเกงตัวละ ๓๐ เหรียญอย่างอาจหาญ เพื่อซื้อความหล่อ เงินเดือนไม่พอใช้ก็ไปกู้มาก่อนผ่อนทีหลัง พฤติกรรมแบบนี้เหมือนคนไทย ชอบรูดบัตรซื้อของเงินผ่อนจนค่างวดไม่พอกับเงินเดือน จำต้องก่อหนี้นอกระบบต่อไป ไม่รู้ใครลอกแบบใครในเรื่องนี้ น่าจะเปิดเวทีถกเถียงกันให้รู้ดำรู้แดง

พระยาทรงฯ ท่านเป็นทหาร เรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นความรู้ใหม่ของท่าน หลังจากหลายเดือนผ่านไป ผ้าของท่านยังขายไปได้ไม่ถึงยี่สิบเมตร ดังนั้นเพียง ๖ เดือน หลังจากถูกขับไล่ออกจากราชการ ท่านจึงหมดไปแล้วกว่าครึ่งของสมบัติติดตัว ที่ท่านมีทั้งชีวิต เครื่องทองหยอง ที่คุณหญิงรวบรวมมาก็ได้แปรสภาพเป็นเงินสำหรับปัจจัยสี่ ในการดำรงชีวิตเกือบหมด ทุกครั้งที่คุณหญิงปลดสร้อยออกจากคอ หรือรูดแหวนออกจากนิ้ว ท่านจะหัวเราะหึๆประชดตนเอง แม้ฝรั่งเศสจะเสนอให้ที่ทำการเกษตรแถมพันธุ์วัวแพะแกะหมูให้ คนอย่างท่านก็ยอมรับไม่ได้เสียอีก เพราะไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณ กลัวจะต้องเกิดภาวะจำยอมภายหลัง ไม่รู้ว่าเมื่อไร เขาวางตนเป็นเบี้ยบนขึ้นมา สั่งให้ทำโน่นนี่ เคยยื่นให้สิบอาจต้องตอบแทนเป็นร้อย ไม่ทำก็กลายเป็นอกตัญญู หรือไม่ก็โดนเช็คบิลล์หนักกว่าที่ได้รับมา …

หลังจากสี่เดือนเศษ ที่ไร้คำตอบจากปารีส ….
     สมบัติชิ้นสุดท้าย คือ  แหวนที่หัวเป็นเพชรลูก ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นเงิน ๗๕๐ เหรียญ ในวันที่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน…. แต่ก็เหลือเชื่อจริงๆ คนที่เพิ่งรู้จักกันในละแวกนั้นคนหนึ่ง บ้านเป็นตึก เครื่องเรือนภูมิฐาน พูดจาน่าเชื่อถือว่ามีเงินเดือน ๖๐๐ เหรียญ แต่กำลังร้อนเงิน ขอกู้ท่าน ๓๐๐ เหรียญสักเดือนหนึ่ง โดยจะให้ดอก ๓๐ เหรียญ

สองคนสามี ภรรยาปรึกษากันแล้วเห็นว่า ดีกว่าให้เงินนิ่งอยู่เฉยๆ  จึงให้ไป …

     แต่พอถึงกำหนด  ไปทวงคืน  บอกว่ายังไม่มี พอทวงครั้งที่สอง  ที่สาม ก็บอกว่าไม่มี ไม่ใช้ ไม่หนี ไม่ให้ อยากจะฟ้องร้อง หรือทำอะไรก็เชิญ เป็นอันว่าต้อง ยะถา สัพพีไป ….

วันตัดสินโชคชะตาของท่าน
มาถึงล่าช้าไปประมาณเดือนหนึ่ง จากกำหนดเดิม…

  มีตำรวจญวน มารับที่บ้าน แจ้งว่านายฝรั่งขอเชิญไปพบ….  แล้วผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีน ก็แจ้งท่านว่า ปารีสให้คำตอบมาแล้ว พระยาทรงสุรเดช ได้รับเกียรติให้อยู่ในไซ่ง่อนต่อไป โดยไม่มีกำหนด   ( … แต่เหตุผลจริงๆแล้ว สถานการณ์ในยุโรปกำลังตึงเครียดหนัก สงครามใกล้ระเบิดในนาทีใดนาทีหนึ่ง คนฝรั่งเศสไม่มีเรื่องอะไรสำคัญเท่าข่าวกองทัพของฮิตเลอร์ กำลังเคลื่อนไหวอยู่ที่ชายแดนบ้านตน เรื่องของพระยาทรงฯ กระจี๊ดดดเดียว ตัดบทได้ก็ตัดบทไป …. ) 

      ร้อยเอกสำรวจ มาทำร้านขายข้าวแกงและขนมไทยๆ แทนคุณหญิง และลูกสาวที่พนมเปญ   ก็ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย มีแต่ความพยายาม แต่ขาดพรสวรรค์ ในเรื่องรสชาติ ที่ไม่ถูกปากคนเขมร ทั้งที่อาหารทั้งสองชาติ มีความใกล้เคียงกันมาก ไม่เหมือนญวนก็ตาม แต่ร้อยเอกสำรวจ ยังโชคดี ร้อยเอกทวี จันทร์ยิ่งยง เพื่อนรัก ที่ได้ทุนไปเรียนฟิลลิปปินส์ และเคยขอยืมเงินให้ร้อยเอกสำรวจ ส่งไปให้เดือนละ ๓๐ บาท พอทราบข่าวความทุกข์ยากของเพื่อน จึงโอนเงินก้อนใหญ่กลับมาใช้หนี้ แลกได้เกือบ ๘๐๐ เหรียญ นี่ถือเป็นตัวอย่างของคนดี การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายตราบเท่าที่เราพยายาม ที่จะใช้หนี้ เป็นหนี้แล้วไม่ใช้เขานี่ เป็นบาปเท่ากับการลักทรัพย์ แต่หนี้ที่เกิดจากการพนันเป็นความโงภ (แปลว่าโง่+โลภ) นะขอรับ …

เล่ามาถึงตอนนี้ ต้องขอเอ่ยเสียหน่อยว่า ในกรุงเทพฯ มีการปล่อยข่าวว่า ท่านผู้นำ ดูแลผู้ที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองมาก่อนอย่างดี ส่งเงินส่งทองไปให้พวกที่โดนเนรเทศใช้สอยไม่ลำบาก ลูกหลานก็ดูแลให้การศึกษาไม่ละเลย มีผู้ออกมาปฏิเสธ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็มีร้อยเอกสำรวจ คนหนึ่งละ ที่เขียนไว้ว่า…

“อย่าว่าแต่ผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนา ๗๕ จะให้เงินให้ทองเลย แม้ชีวิตเลือดเนื้อเขาก็จะทำลายให้สิ้น ตายไปเสียโดยเร็ว การที่เริ่มเดินทางจากประเทศเมืองเกิด มาก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด หวุดหวิดจะถูกเขาปลิดทิ้งระหว่างทาง ความเมตตาปรานีน่ะหรือ ที่จะหาได้จากพวกเผด็จการเหี้ยมโหด”

      เงิน ๘๐๐ เหรียญของ ร้อยเอกสำรวจ ละลายไปกว่าครึ่ง  เพราะได้เสนาธิการหัวกระทิ เป็นที่ปรึกษา เมื่อขอคำแนะนำไปว่า ระหว่างค้าน้ำตาลปึก กับทำรถสามล้อให้เช่าอะไรจะดีกว่ากัน พระยาทรงฯ เขียนมาบอกว่า น้ำตาลเป็นของกิน สงครามจะเกิดของกินจะหายาก ราคาแพงอย่างไร คนก็ต้องกิน ส่วนรถสามล้อนั้น พอจนเงินเข้า คนก็เลือกที่จะเดิน ไม่ขึ้นรถให้เสียสตางค์ ฟังดูดี … มีหลักคิดเข้าท่านะครับ

ร้อยเอกสำรวจ ก็เห็นด้วย เพราะทำขนมขายอยู่ ยังไงๆ น้ำตาล ก็คงไม่เน่าไม่บูด ขายไม่ออกก็ได้ใช้ แต่ปรากฏว่า พอลงทุนซื้อมาเยอะแยะ จึงได้ความรู้ใหม่ อีกประการหนึ่งว่า น้ำตาลปึกนั้นไม่เน่าไม่บูดก็จริง แต่เก็บไว้ระยะหนึ่ง ก็ไหลเยิ้มละลายได้ ความรู้ใหม่ ของร้อยเอกสำรวจ จึงต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยราคาแพงมาก ….

ร้อยเอก หลวงรณสิทธิพิชัย นายทหารที่พระยาทรงฯ เคยใช้ให้ร่วมขบวนในวันปฏิวัติ ไปลวงเอารถถังออกมาจากกรมทหารม้าที่ ๑ หลวงพิบูลยังเมตตา เปิดทางให้หนีมาอยู่เขมร ก่อนหน้าที่คนอื่นๆ จะถูกจับตายนั้น คือผู้เสนอความคิดเรื่อง ทำสามล้อให้เช่า รู้สึกสงสารเพื่อนรุ่นน้องมาก เลยยินดีร่วมทุน ๕๐-๕๐ ให้เกิดความมั่นใจ ซื้อรถเก่าๆ มาเพื่อจะเอาทะเบียน แล้วซ่อมแซมตกแต่งด้วยความใจเย็นไม่เร่งร้อน ได้รถสวยมาคันหนึ่งให้เช่าได้เดือนละ ๘๐ เหรียญ แบ่งครึ่งกับหุ้นส่วนแล้วได้คนละ ๔๐ เหรียญ ร้อยเอกสำรวจ ภาคภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงนี้มาก เงินรายได้จากเดือนแรกนี้ ร้อยเอกสำรวจ ส่งไป ใช้คำว่า กราบเท้าอาจารย์ที่ตกทุกข์ในไซ่ง่อน กรณีนี้ท่านยอมรับ ทำให้ศิษย์ดีใจและชื่นใจมาก

๑ กันยายน ๒๔๘๒ เกิดสงครามในยุโรป

ประชาสัมพันธ์

เครื่องดื่ม kombucha - n1

ทหารเยอรมันแวร์มัคท์ กำลังเคลียร์ที่ข้ามเขตแดนไปยังโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939

พระยาทรงฯ ได้ติดตามข่าวสงคราม ด้วยความสนใจยิ่งยวด

ท่านยอมลงทุนซื้อแผนที่ ทวีปยุโรปหลายฉบับ และซื้อหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ที่ออกในไซ่ง่อน  ท่านใช้เวลาวันละสี่ห้าชั่วโมง อยู่กับการวิเคราะห์แผนที่ ว่าใครจะดำเนินกลยุทธ์อย่างไร  ….

 เมื่อถึง วันที่  ๙ เมษายน ๒๔๘๓ เยอรมันก็บุก เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส เมื่อสิ่งที่ท่านคิดเกิดเป็นเช่นนั้นจริงๆ ท่านหัวเราะรื่นเริง กับ เกมสงคราม ช่วยให้จิตใจของท่านไม่ถูกครอบงำโดยวิตกจริตได้ส่วนหนึ่ง ….


บทความ |เรียบเรียง
โดย  :  ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน


โปรดติดตามตอนต่อไป :   ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article