miscellaneous

ชะตากรรมของ พระยาทรงสุรเดช | ตอนที่ ๑๒ ถูกปองร้าย ซ้ำซาก

ถูกปองร้าย หมายชีวิตซ้ำสอง

หลังถูกคนสวน บุกขึ้นไปยิงเพียงสิบวันเท่านั้น ก็มีข่าวพาดหัวอีกว่า หลวงพิบูลถูกวางยาพิษ  ต้องไปล้างท้องพร้อมกัน ทั้งครอบครัว และแขกที่ไปร่วมรับประทานอาหารมื้อนั้น ….  ประชาชนครางฮือว่า หลวงพิบูลชักจะโดนเล่นแรงไปหน่อยแล้ว ผู้แทนราษฎร ที่เคยเป็นฝ่ายค้าน ก็เริ่มใจอ่อนสงสาร ….

เรื่องนี้เกิดขึ้นในวันที่ ๙ ธันวาคม เวลาประมาณ ๑๖ น. หลวงพิบูลและครอบครัว กับนายทหารอื่นๆ รวม ๘ คนได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกัน ตอนบ่ายสี่โมง หลังจากทานของหวานแล้วทุกคนรู้สึกปวดท้องผิดปกติ จนรู้สึกว่า ได้ถูกวางยาพิษ จึงรีบพากันไปล้างท้องที่โรงพยาบาลทหาร ถนนพญาไท

    เหตุการณ์ การถูกวางยาพิษนี้   พอมาถึงยุคหลังๆ ที่คนจึงกล้าวิจารณ์ว่า เป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเอง แต่ฝ่ายของหลวงพิบูลฯ ก็เขียนโต้ว่า   พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนใน หนังสือ  “เกิดวังปารุสก์” ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

   “ในไม่ช้าก็มีข่าวว่า  มีผู้พยายามจะปลงชีพหลวงพิบูลอีก คราวนี้โดยการวางยาพิษ และปรากฏว่าภรรยาก็ถูกยาพิษด้วย ผู้เขียนไปเยี่ยม และได้พบในห้องนอนที่โรงพยาบาลทหารบก ดูท่านทั้งสอง ไม่สบายอย่างมาก นอนครางอยู่เรื่อย จึงไม่เป็นของแปลกที่เมื่อหายสบายดีแล้ว ท่านทั้งสอง จะไม่รับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มอย่างใด นอกบ้านเลยอยู่เป็นเวลาชั่วขณะหนึ่ง”

แต่ข้อความข้างบน ขัดกับคำแถลงของทางราชการ
ที่ออกในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๑ ว่า

  ”  นายแพทย์กองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ ๑ พญาไท ได้จัดการรักษาพยาบาลบุคคลทั้งหมดทันท่วงที หลวงพิบูล และขุนรณนภากาศ มีอาการมากหน่อย คนอื่นๆ พอประมาณ เมื่อได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดี ก็ทุเลาลงพ้นอันตราย แพทย์ให้กลับบ้านได้ทุกคนในตอนค่ำของวันนั้น ….”

 

พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์(ซ้าย) ปกติประทับอบู่อังกฤษ ทรงกลับมาเยี่ยมเมืองไทยช่วงนั้นในระยะสั้นๆ ในภาพด้านขวาคือพระองค์เจ้าอาทิตยา อาภากร ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในเครื่องแบบนายทหารเรือเช่นเดียวกับพระบิดา

 


ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตนก็ไม่ทราบว่า พระองค์จุลฯ เสด็จไปเยี่ยมเวลาไหน …. แล้วคนไข้ ที่มีอาการขนาดอยู่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่ชั่วโมงหมอก็ให้กลับบ้านได้นั้น ชายชาติทหารจะนอนร้องครวญคราง แข่งกับภรรยา ให้แขกไกลตัว ที่มาจากอังกฤษผู้มาเยี่ยมได้เห็นได้ยินกระนั้นหรือ ??

อนึ่ง ถ้าคนไข้สำคัญระดับซูปเปอร์วีไอพี เพิ่งถูกพยายามจะลอบฆ่า โดยวิธีการวางยาพิษ กำลังนอนร้องโอดโอยอยู่จริง หมอ และองครักษ์ทั้งหลายคงจะไม่ยอมให้ใคร ที่ไม่ใช่ญาติสนิท มิตรรัก เข้าไปเยี่ยมถึงภายในห้องนอนได้ โดยเฉพาะ พวกเจ้าอย่างท่าน ??


และที่แปลกกว่า ก็คือ   เรื่องนี้พอขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว ปรากฏในหนังสือคำพิพากษาศาลพิเศษ ๒๔๘๒ ว่า  “พันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต”  พลขับรถของหลวงพิบูลนั่นแหละ ที่รับสารภาพ กับตำรวจว่า เป็นผู้กระทำการวางยาพิษจริง แต่ถูกตำรวจกันตัวเป็นพยาน เพราะ  พันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต ได้ซัดทอด ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ ว่าเป็นผู้จ้างวานให้ทำ

…จ่าคนดีผู้นี้ ไม่ต้องติดคุกติดตะรางเลย ทั้งๆ ที่สัปดาห์ก่อนหน้า ก็เอาปืนของหลวงพิบูลวางไว้บนเบาะรถ แล้วนายลี บุญตา ก็มาหยิบเอาไปยิงนาย ซึ่งคดีนั้น ตำรวจได้จัดให้  ขุนนามนฤนาท อดีตนายทหารหน้าห้องพระยาทรงฯ เป็นผู้จ้างวานนายลี จ่าคนดี ก็เป็นพยานโจทก์ในคดีนั้นด้วย … 

ไม่ว่าจะเป็นเพราะข่าว ถูกปองร้ายหมายฆ่า แต่รอดมาได้ หรือไม่เกี่ยว เมื่อถึงเวลาที่สภาฯ ลงมติเลือก ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไปแทนพระยาพหลฯ จึงไม่มี ส.ส.ผู้ใด เสนอชื่อผู้อื่นนอกเหนือจากหลวงพิบูลฯ เข้าชิงตำแหน่ง …. อาจจะเป็นเพราะ พระยาทรงฯ ท่านส่งสัญญาณเงียบเพียงอย่างเดียว ไม่ยอมเล่นข่าวด้วย หลวงพิบูลฯ จึงไร้คู่แข่ง

เมื่อประธานสภาฯ เสนอให้โหวต… 

    หลวงพิบูลฯ ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ด้วยเสียงของ ส.ส.ประเภท ๒ ซึ่งเป็นคนในมุ้งของตนเสียส่วนใหญ่อยู่แล้ว เมื่อลงมติรวมกับเสียง ส.ส.ประเภท ๑ ก็ท่วมท้นเหลือที่จะพอ ….

เหยื่ออธรรม

รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม  เข้าบริหารราชการได้เพียงเดือนเดียว ก็เริ่มปฏิบัติการ “กวาดล้าง”  เสี้ยนหนามทางการเมืองทันที

พันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส เพื่อนนักเรียนนายร้อย คู่หู รุ่นเดียวกัน ที่หลวงพิบูลฯ  จัดให้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย ได้ออกคำสั่งให้  ลงมือปฏิบัติการพร้อมกันทุกสายในเช้ามืดของวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๒

ปฏิบัติการสายฟ้าแลบจับกุมผู้ต้องสงสัย
จำนวน ๕๑ คน และจับตาย ๓ คน !!!

  • ผู้ถูกจับตาย คนแรก   คือ พันตรีหลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล) อดีตผู้บังคับการกองพันที่ ๓ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้ถูกปลดออกจากราชการ หลังการปฏิวัติ อันเนื่องมาจากการกระทำในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕


ขณะพระยาพหลฯ เริ่มอ่านประกาศปฏิวัติ ให้ทหารที่รวมกันบนลานพระบรมรูปทรงม้า โดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ฟัง แต่ก่อนที่ท่านจะจบด้วยเสียงอันดังว่า “ท่านผู้ใดเห็นด้วยกับคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน แล้ว ขอให้ก้าวเท้าออกมาข้างหน้า หนึ่งก้าว”    หลวงราญซึ่งที่ทำงานอยู่แถวนั้น และได้แอบเข้าไปสังเกตุการณ์การชุมนุมด้วย ก็รีบหลบออกไปก่อน ตั้งแต่เดาเรื่องถูก ….

จากนั้น ก็รีบกลับเข้าไปในกองพัน เพื่อโทรศัพท์รายงาน   พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ผู้บังคับบัญชากองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ แต่สายโทรศัพท์ถูกตัดขาดติดต่อไม่ได้ ส่วนตัวพระยาเสนาเอง ก็ถูกคณะราษฎร์ส่งทหารไปจับตัวที่บ้านพักนอกกรมทหาร และถูกร้อยโท ขุนศรีศรากร ยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บก่อนจะถูกจับกุมตัวไป พลตรี พระยาเสนาสงคราม ถือเป็นบุคคลคนเดียวที่เสียเลือดในเหตุการณ์การปฎิวัติ ๒๔๗๕ ….
พันตรีหลวงราญรณกาจ จึงสั่งการให้กองพันทหารมหาดเล็ก ที่สะพานมัฆวาน จัดกำลังทหารหนึ่งกองร้อยเตรียมต่อสู้ แต่พอได้เห็นใบปลิว และทราบข่าวว่า ฝ่ายปฏิวัติจับกรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว จึงได้ถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้งไป หลวงราญ ยังอยู่ในราชการไปได้อีกหน่อยหนึ่ง จึงถูกปลดออก ต้องไปทำงานเป็นผู้จัดการโรงหนังเฉลิมนคร อยู่แถวคลองถม แล้วถูกสันติบาลกาหัวว่าเป็นฝ่ายแค้นรัฐบาล …
วันที่ถูกสั่งจับตายนั้น หลวงราญ เพิ่งจะตื่นนอนอยู่ในชุดโสร่ง เมื่อตำรวจนำโดยร้อยตำรวจเอก หลวงจุลกะรัตนากร ไปถึงบ้านที่เช่า อยู่ข้างวัดโสมนัส หลวงราญ ออกมาเปิดประตูต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เมื่อเชิญให้เข้ามาในบ้าน หลวงจุล ก็ยื่นหมายจับให้อ่าน หลวงราญ ขอเวลาไปเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยก่อน ขอให้นั่งรอในห้องรับแขกสักครู่….


… ตามแถลงการณ์ของรัฐบาลที่ออกในเวลาต่อมากล่าวว่า

“หลวงราญ กลับออกมาก็เดินรี่เข้าหาหลวงจุล แล้วกระตุกปืนจากเอวออกมาจ่อจะยิง (ตรงนี้ไม่เนียน ถ้าบอกว่าถีบประตูออกมาพร้อมลั่นกระสุนเป็นตับจะน่าเชื่อกว่า) ตำรวจคนหนึ่งเห็นเข้าก่อน จึงปัดปืนให้ออกจากทาง และร้องเตือนให้หลวงจุล ทราบ ปืนสั้นของหลวงราญได้ลั่นกระสุนออกไป ๓ นัด ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ บาดเจ็บสองคน ได้แก่ ส.ต.ต.สด ศรีสุขภู่ และ ส.ต.ต.วิชิต แสงศรี เกิดชุลมุนกันอยู่นั้น ตำรวจที่เหลือจึงยิงตอบโต้ ๕ นัดซ้อน ถูกหลวงราญถึงแก่ความตาย”

ญาติพี่น้องสกุลวินิจฉัยกุล ของหลวงราญรณกาจ เขียนไว้ เป็นคนละเรื่องเดียวกันว่า  “พอเดินเข้าไปในห้องแล้ว ตำรวจก็เปลี่ยนใจ เดินตามเข้าไป แล้วยิงหลวงราญ จนตาย ขณะกำลังแต่งตัวอยู่ ต่อหน้าลูกและเมีย …”  

ไม่มีใครทราบว่า พันตรีหลวงราญรณกาจ
ได้ไปกระทำความผิดอะไร ?
จึงถูกตำรวจออกหมายจับ

จนกระทั่งศาลพิเศษ ๒๔๘๒
มีคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า…

“หลวงราญรณกาจ  ร่วมกับนายดาบพวง พลนาวี (พี่เมียของพระยาทรงสุรเดช) จ้างวาน นายยัง ประไพศรี ให้ไปดักยิงหลวงพิบูลฯ ที่ตลาดศรีย่าน แต่กระทำการไม่สำเร็จ เพราะตำรวจสืบทราบ และได้ไปดักรออยู่   … นายยัง จึงได้หลบหนีไป แล้วภายหลังถูกตำรวจตามไปจับที่จังหวัดนนทบุรี นายยัง ต่อสู้จึงถูกตำรวจยิงตาย  ….

  … ก่อนหน้านั้นคนอ่านหนังสือพิมพ์ยังนึกว่า ตำรวจวิสามัญฆาตกรรม หัวโขมยประจำถิ่นธรรมดาๆ ไม่นึกเลยว่าจะโยงนายยัง จิ๊กโก๋ที่โดนตำรวจวิสามัญฆาตกรรมคนนี้เข้ากับคดีความการเมืองได้ …

พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ผู้บังคับบัญชากองพลที่ ๑ ผู้พยายามทำหน้าที่ของทหารรักษาพระองค์จนสุดความสามารถแล้ว

ส่วนพลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) เมื่อพระยาพหลฯ ในฐานะเพื่อนเก่า เกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นพวกคณะราษฎรไม่สำเร็จ ก็ถูกปลดออกเป็นนายทหารนอกประจำการ และต่อมา ท่านได้เข้าร่วมกับพระองค์บวรเดช ยกกองทัพหัวเมืองเข้ามาตามแผนล้อมกวาง แต่พอกวางกลายเป็นเสือ ไล่ตะปบ ต้องถอยทัพไม่เป็นขบวนกลับอิสาน ตัวพระองค์บวรเดช เสด็จหนีเข้าอินโดจีนไปทางเครื่องบิน พระยาเสนา และนายทัพอื่นๆก็ใช้ม้าเป็นพาหนะ หนีจากสุรินทร์เข้าเขมรไปเหมือนกัน
เมื่อแยกทางกับสมัครพรรคพวกแล้ว ตัวท่านได้เดินทางไปลี้ภัยต่ออยู่ที่ปีนัง ….
พระยาเสนาสงคราม รอดชีวิต และกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนได้  หลังมีประกาศนิรโทษกรรม ผู้ต้องโทษการเมืองทุกคน  ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙   มีคนไปถามท่านว่า 

“… หายขุ่นเคืองพวกศัตรูทางการเมืองหรือยัง”

ท่านก็ยิ้มแล้วตอบว่า

“อโหสิกรรมให้หมดแล้ว ทั้งคนยิงและคนสั่งให้ไปยิง”


ช่วงสุดท้ายของชีวิตท่าน ได้บวชเป็นภิกษุ  ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และมรณภาพในผ้าเหลือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เช่นเดียวกับ ขุนศรีศรากร ผู้ยิงท่าน ก็ได้บวชเป็นภิกษุ ในวัดแถวบ้านเกิด ครองผ้าเหลืองจนตลอดชีวิตเช่นกัน

  • ผู้ถูกจับตายคนที่ ๒  เป็นนายตำรวจชื่อ พันตำรวจตรี หลวงวรณสฤช สมัยเป็นนายทหารช่าง ท่านผู้อ่าน อาจจำชื่อนี้ได้ คือ  ช่วงวันปฏิวัติ ๒๔ มิถุนา พระยาทรงฯ ไปขอร้องให้นำทหารมาฝึกอาวุธ ที่สนามหน้ากองพันในตอนเช้าตรู่ แล้วแวะรับไปรวมตัวที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย   หลวงวรณสฤช จึงเป็นที่รู้กันว่า เป็นลูกน้องของพระยาทรงสุรเดช  ประเภทสั่งเป็นสั่งตายได้    ….   หลังจากที่หลวงพิบูลฯ ถูกนายพุ่มยิง เลยหาเรื่องให้ย้าย หลวงวรณสฤช ไปเป็นตำรวจ แล้วส่งไปอยู่จ. แม่ฮ่องสอน นอกฟ้าป่าหิมพานต์โน่น ….  ต่อมา ท่านได้วิ่งเต้นขอย้าย ไปเป็นผู้บังคับการกองตำรวจปากพนัง ที่นครศรีธรรมราช ได้สำเร็จ แต่มีคำสั่งลับ จากหลวงอดุลอธิบดี ตามไปถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ ว่า  ห้ามหลวงวรณสฤช เดินทางออกนอกเขตจังหวัด เว้นแต่จะได้คำสั่งเฉพาะกรมตำรวจ ….

เมื่อเกิดเรื่อง กวาดล้างบาง ฝ่ายปรปักษ์ขึ้นมาในคราวนี้ หลวงวรณสฤช  ผู้อยู่ไกลถึงโน่น และไม่มีทางกระดิกกระเดี้ยไปไหนได้ มานานแล้ว   ก็ยังอุตส่าห์ มีตำรวจสันติบาล ลงไปเชิญตัวขึ้นมากรุงเทพ….

 ระหว่างนี้เอง ที่ทางการแถลงทางวิทยุ กระจายเสียงเพียงสั้นๆว่า   “ระหว่างเดินทางมาถึงจังหวัดชุมพร พันตำรวจตรี หลวงวรณสฤช ได้ทำลายชีวิตตนเองเสีย” ….   จบข่าว !!!

จากคำพิพากษาศาลพิเศษ ๒๔๘๒
หลวงวรณสฤช ถูกพาดพิงว่า…

“ได้ร่วมกับพระยาธรณีนฤเบศร์ที่ถูกจำคุกไปแล้ว ในคดีจ้างวานนายพุ่ม ไปยิงหลวงพิบูลที่ท้องสนามหลวง”

  • ผู้ถูกจับตายคนที่ ๓   คือ พันตรี หลวงวิจารณ์สงคราม ( มูล ไวสืบข่าว ) หลวงวิจารณ์ผู้นี้ เคยเป็นทหารอาสาไปรบกับเยอรมัน ในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ถูกเพ่งเล็งว่า  เป็นสายเจ้า จึงเคยถูกจับตัวไปเข้ากรงขังคราวกบฏบวรเดช ฐานผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง แต่ตอนนั้นโดนแค่ ให้ออกจากราชการเท่านั้น เพราะหาความผิดอะไรไม่ได้เลย …
ร้อยตำรวจเอก ขุนพันธรักษ์ราชเดช นายตำรวจมือปราบแห่งปักษ์ใต้

หลวงวิจารณ์ หันไปทำอาชีพค้าขาย ตั้งบริษัท ยะลาการค้า อยู่ที่ตลาดนิบง จังหวัดยะลา ถึงอยู่ไกลขนาดนั้น ก็ยังไม่วาย โดนคำสั่งจากกรุงเทพ ให้ตำรวจไปจับกุมในวันกวาดล้างใหญ่ นายตำรวจที่ไปจับหลวงวิจารณ์ เป็นมือปราบคนดังแห่งนครศรีธรรมราช ชื่อว่ ร้อยตำรวจเอก ขุนพันธรักษ์ราชเดช  ( ท่านผู้นี้ก็ดังขึ้นมาอีกครั้ง จากการสร้างเหรียญจตุคามรามเทพ ออกจำหน่ายเพื่อหาทุนสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชใหม่ เมื่อประมาณปี ๒๕๐๙ แต่แรกราคาเหรียญละ ๑๐ บาท สามสิบปีต่อมามีผู้ปั่นราคาทะลุไปกว่าล้าน ถึงยุคนี้หนังไทยยังโหนความดังของท่านไปสร้างเป็นเรื่องเป็นราวพิลึกกึกกือ ….)
ขุนพันธ์
จับหลวงวิจารณ์  มาจากบ้านแล้ว ก็ฝากขัง ที่สถานีตำรวจปัตตานี ตั้งแต่คืนวันที่ ๒๙ พอเวลา ตีสาม ก็ถูกนำตัวออกจากห้องขัง ไปสถานีโคกโพธิ์ เพื่อจะไปฝากขังต่อที่สงขลา เมื่อรถยนต์ตำรวจมาถึงหลัก ก.ม.ที่ ๑๕ ตาม รายงานของ หลวงสุนาวินวิวัฒน์ ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี    (คงจำได้ว่า ท่านนี้คือเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหม ที่ปัดปืนนายพุ่มให้พ้นหลวงพิบูลผู้เป็นนาย)   มีมาถึง กระทรวงมหาดไทยว่า “ได้มีผู้ร้ายจำนวน ๙ คน มีอาวุธครบมือ เข้าแย่งตัวผู้ต้องหา หลวงวิจารณ์สงคราม ได้ฉวยโอกาสนั้น เข้าแย่งปืนตำรวจ จึงเกิดการต่อสู้กัน ผลคือ  หลวงวิจารณ์สงครามถูกยิงตาย ตำรวจถูกยิงที่เข่า ส่วนผู้ร้ายทั้ง ๙ พร้อมอาวุธครบมือ หายวับไปจากรายงานราวกับปาฎิหาริย์ !!! ”

จากคำพิพากษาศาลพิเศษ ๒๔๘๒ หลวงวิจารณ์สงครามถูกพาดพิงว่า

“ได้ร่วมกับขุนนามนฤนาท จ้างวานนายลี บุญตา ยิงหลวงพิบูลฯ ที่บ้าน และเป็นผู้ร่วมคบคิดกับ ณ เณร ว่าจ้างให้คนไปฆ่าหลวงพิบูล”


ผู้ที่ถูกจับตายทั้งสามคนนี้ ล้วนมีประโยชน์ในทางทำคดีของตำรวจการเมืองยิ่งนัก เพราะจะได้โยงใยแพะ ที่ยังเป็นๆอยู่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยผู้ที่ถูกอ้างถึงนั้นเสียชีวิตแล้ว ไม่สามารถเปิดปากให้การปฏิเสธใดๆได้ …


ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตนบรรดาผู้ต้องหาคดีกบฏ ที่ถูกจับกุม เฉพาะปฏิบัติการวันแรกวันเดียว มีจำนวนถึงห้าสิบกว่าคน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยพระยาพหลฯ ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งหมาดๆ ก็หลายคน และบางคนก็ยังเป็น ส.ส.ประเภท ๒ อยู่ เช่น พลโทพระยาเทพหัสดิน , พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ และพระวุฒิภาคภักดี พวกนี้คือ พวกที่เคยอภิปรายตำหนิรัฐบาล นายทหารสายพระยาทรงสุรเดช มี พ.อ.พระสิทธิเรืองเดชพล , พ.ท.พระสุรรณชิต , นายทหารสายสืบ , ร.อ.หลวงภูมิภาค , ร.ท.ชิต ไทยอุบล แล้วยังมีอีกมากต่อมาก ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นพวกใคร แต่หลวงพิบูลฯ บอกว่าไม่ใช่พวกกูก็แล้วกัน ….


ที่บังอาจที่สุด คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้ที่หลวงพิบูลฯ เข้าใจว่า ทรงลดพระองค์ลงไปเป็นศัตรูกับตนด้วย ?

เป้าหมายการกวาดล้างอันดับหนึ่ง
       วันดีเดย์ในส่วนของหลวงพิบูลฯ นั้น ได้บัญชาให้พันเอก หลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกคำสั่งปลดนายทหาร แบบไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ ๑๒ นาย ตั้งแต่พันเอก พระยาทรงสุรเดช ไปจนนายทหารสังกัดโรงเรียนรบทุกคน หนึ่งในนี้ มีหลานชายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ ซื่อ ร.อ. ชลอ เอมะศิริ รวมอยู่ด้วย

วันนั้น พระยาทรงสุรเดช กำลังอยู่ระหว่างการนำศิษย์ นายทหารฝึกหัดราชการ โรงเรียนรบชั้นสูงรุ่นแรก ที่ใกล้จบการศึกษาแล้ว มาตระเวนดูงาน การทหารตามหลักสูตร อยู่ที่กรมทหารราชบุรี ก็ปรากฏ มีเครื่องบินสื่อสารลำหนึ่งบินจากกรุงเทพมารออยู่ พันเอกหลวงประจักรกลยุทธ นายทหารที่มากับเครื่อง ได้นำซองขาว บรรจุคำสั่งให้ ปลดนายทหารออกจากราชการมายื่นให้…

นายทหารในคณะทุกคน ถูกควบคุมตัวขึ้นรถไฟ เข้ากรุงเทพเพื่อสอบสวนทันที

หลังจากนั้น ๓ วัน พระยาทรงสุรเดช และร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิน นายทหารคนสนิท ก็ถูกจัดส่งให้ไปเขมร โดยไม่ยอมให้เข้าบ้านก่อน มีตำรวจสันติบาล หลายนายประกบตัวไปส่งถึงชายแดนด้านอรัญประเทศ ส่วนคนอื่นๆโดนตั้งข้อหากบฏทุกคน …

หลังจากจับแพะ ที่หมายหัวมาใส่กรงขัง  ตามสถานีตำรวจนครบาลหลายแห่งครบแล้ว

เพียงสองสามวันเท่านั้น รัฐบาลก็ได้เสนอ พ.ร.บ.การจัดตั้ง ศาลพิเศษ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ แต่ในวันนั้น ทั้งหลวงพิบูล และหลวงอดุล ได้นัดกันเขินอาย ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมสภาฯ ด้วย หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม จึงเป็นผู้เสนอร่างแทนแต่เพียงผู้เดียว

ฝ่ายค้านก็ทำการค้านแบบกลัวๆกล้าๆ

“ก็มันเห็นจะๆอยู่แล้ว ว่า ไผเป็นไผ เมื่อ ณ เณร ผู้ไม่กลัวใคร  ได้ถูกจับกุมไปแล้ว ทั้ง ฒ ผู้เฒ่า และ ด เด็กก็เลยหัวหด”

พอลงมติ บรรดา ส.ส.ทั้งหลาย ก็แสดงภาษามือว่า “กระผมก็เป็นพวกท่านนะขอรับ” ด้วยการชูมือยอมรับ พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นเอกฉันท์ ศาลพิเศษ ๒๔๘๒ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นนี้ มอบอำนาจให้หลวงพิบูลฯ แต่งตั้งพันเอก หลวงพรหมโยธี เพื่อนผู้ซื่อสัตย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษา ตัดสินลงโทษ “แพะรับบาป” เหล่านั้นต่อไปโดยไม่ต้องเมตตา

มีผู้ถูกศาลพิเศษตัดสินให้ประหารชีวิต ๒๑ คน   ลดโทษในฐานะที่ได้กระทำความดีมาก่อน ๓ คน เมื่อพวกที่เหลือทำฎีกายื่น ขอพระราชทานอภัยโทษ ต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันมี พระองค์อาทิตย์ เป็นประธาน    เจ้านายองค์นี้ ทรงเป็นลูกไม้ไกลต้นของกรมหลวงชุมพร ครั้นหลับพระเนตรลง เห็นสายตาอันดุดันของหลวงอดุล จ้องมองถมึงทึงมายังดวงพระเนตรของท่านแล้ว ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ระรัวพระหัตถ์ จรดปากกาลงพระนาม ยกฎีกาของนักโทษประหารทั้ง ๑๘ คนนั้นเสีย !!!

ประชาสัมพันธ์

Banana ไซเดอร์ วีนีก้าร์ - N1

ฆ่ากันไปเสร็จสรรพแล้ว เมื่อสื่อมวลชน กล้าถาม … คำตอบของหลวงพิบูลก็ชัดเจนมากว่า …

“ประหารชีวิตเพียง ๑๘ คนเท่านั้น ไม่มากมายอะไรเลย การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส เขาตัดหัวใส่เกวียนเป็นแถวๆ”

จึงเป็นอันว่า  หมดคำถาม…. 


 

บทความ |เรียบเรียง
โดย  :  ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

 

โปรดติดตามตอนต่อไป :   ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช  หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์

 

 



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article