7ในภาวะสงคราม ทำให้ความเป็นอยู่ของ พระยาทรงสุรเดช แย่ลง…
ขนมกล้วย ขายไม่ดี อย่างแต่เก่าก่อน ไม่ทราบว่า เพราะคนเบื่อ หรือประหยัด ท่านจึงย้ายออกไปอยู่บ้านนอก ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่กล้าไป เพราะน้อยคน จะสามารถป้องกันบ้านจากโขมยขโจรได้ แต่คราวนี้ ลูกน้องมาอยู่ด้วยเยอะ ย้ายออกไปหาที่ราคาถูกๆ กว้างขวางหน่อย น่าจะดีกว่าห้องเช่าเดิม ในไซ่ง่อนนั้น หลวงรณฯ กับครอบครัวขอรับช่วงต่อ ไม่ได้ติดตามไปด้วย ….
การออกไปอยู่บ้านนอก ในช่วงนี้แหละ ที่เป็นข่าวว่า พระยาทรงสุรเดช ตกอับ ถึงกับต้องเดินท่อมๆ ทอดแหหาปลามากินไปวันๆ
แต่ความเป็นจริงแล้ว ร้อยเอกสำรวจ มีความชำนาญในการใช้แห มาตั้งแต่เด็ก เห็นหมู่บ้านที่ย้ายไปอยู่ใหม่ มีหนองน้ำคลองบึง มากมาย จึงไปซื้อแห จากตลาดมาลองจับปลาดู ได้ผลน่าพอใจ สมาชิกในบ้านมีอาหารโปรตีนเสริมแทนการกินผัดผักกับกุ้งแห้งโดยไม่ต้องซื้อ …
พระยาทรงฯ ท่านเห็นดีด้วย เขาออกไปทอดแหกัน ท่านก็ไปกับเขา เริ่มจากการช่วยเอาปลาออกจากแห จนถึงกับลงมือทอดแหเสียเองเลย ….
เมื่อหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า คณะผู้แทนไทยจะเดินทางมาไซ่ง่อน เพื่อเจรจาเรื่องการปักปันชายแดนนั้น พระยาทรงสุรเดช ท่านพลางตัวไปซุ่มที่สนามบิน ดูว่ามีใครที่ท่านรู้จักบ้าง เผื่อจะได้หาทางเชื่อมโยงแนวความคิด ที่จะจัดตั้งขบวนการใต้ดินกับรัฐบาล … แต่ก็ผิดหวัง ท่านไม่รู้จักใครที่พอจะไว้เนื้อเชื่อใจได้เลย จึงจำต้องสงบตนไว้ …
การยุติสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
ได้นำผลกระทบในทางดี มาให้ท่าน..
รัฐบาลอินโดจีน แจ้งให้ทราบว่า … “ขณะนี้หมดความจำเป็นที่จะต้องกักบริเวณ พระยาทรงสุรเดชได้รับอิสระ ที่จะไปตั้งถิ่นฐานที่ใดก็ได้”
ทุกคนจึงรีบเก็บข้าวเก็บของ อยากกลับไปพนมเปญโดยเร็ว เขมรกับไทย เหมือนพี่เหมือนน้องกัน มากกว่าคนญวน อยู่ที่เขมรโอกาสอดข้าวตายมีน้อยมาก ….
ทางการฝรั่งเศสก็ดีใจหาย พอทราบว่า ท่านจะเดินทาง ก็จัดรถบรรทุกมาให้ ขามาก็ขนท่านมา ขากลับก็จะเอาไปส่ง …. ท่านสามารถประหยัดเงินค่าเช่ารถไปได้ถึงร้อยเหรียญ ที่จะถนอมไว้เป็นทุนสำหรับการค้าขายได้ ….
เมื่อถึงพนมเปญแล้ว ท่านเลือกบ้านเช่าเล็กๆ ในสวน จัดข้าวจัดของ เสร็จสรรพ ทุกคนก็พร้อมที่จะต่อสู้ในสงครามแห่งชีวิตภาคต่อไป…
เวลานั้นเรื่องญี่ปุ่นจะบุกเมืองไทยกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม…. ในฐานะนายทหารระดับผู้นำของประเทศ พระยาทรงฯ ท่านคาดเดาไว้แล้ว ไม่คิดว่านโยบาย ที่ประกาศตนเป็นกลางของรัฐบาล จะเป็นผล ระหว่างที่กระบอกเสียงปั่นสมองประชาชน ผ่านคู่สนทนาสองคนคือ “นายมั่นกับนายคง” ให้ราษฎร เตรียมอาวุธทุกชนิด ช่วยทหารไทยรบ ปกป้องแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นปืนผาหน้าไม้ ,หลาวเหลน กระทั่งหมามุ่ย …. ก็สามารถนำมาใช้ยับยั้งข้าศึกได้ ((( ใครไม่รู้จักหมามุ่ย ก็ไปไถ่ถามกันเองนะครับ บอกใบ้ได้แต่เพียงว่าเป็นพืช ไม่ใช่สัตว์ …. )))
ที่พนมเปญ ครอบครัวของพระยาทรงฯ ท่านเลือกทำขนมไทยขาย ฐานะความเป็นอยู่ของท่าน ดีขึ้นมามาก แม้จะไม่ถึงกับสบาย แต่ก็ไม่ต้องตีนถีบปากกัดแล้ว ….
บ้านเช่าหลังใหญ่กว่าเดิม
ยังโชคดี ร้านขนมของท่าน ถูกค้นพบโดย สมเด็จกรมพระวรจักรฯ ( เจ้านายเขมร ) พระทัยดี ผู้ทรงเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์นโรดม ในพระบรมโกศ พระองค์ทรงรู้กิตติศัพท์ของพระยาทรงสุรเดช จึงทรงเมตตาเสนอให้เช่าบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระเชษฐ์ภคินี (พี่สาว) ของพระองค์ในราคาเพียงเดือนละสิบห้าเหรียญ ….
บ้านเช่าหลังนี้ ใหญ่ขึ้นกว่าที่เดิม และข้อสำคัญ อยู่ในทำเลที่ดีขึ้นมาก ขนมไทยจึงขายดีขึ้น ตั้งโต๊ะสี่ห้าโต๊ะ ให้คนมานั่งทานในร้านก็ได้ พระยาทรงฯ ท่านก็มีงานหลัก ในงานควบคุมคุณภาพการผลิต ทำการชั่งตวงวัดส่วนผสมของขนมเอง เพื่อรักษามาตรฐาน ความอร่อยให้คงที่ เมื่อเสร็จงานหลักประจำวัน ท่านก็มีงานเสริม ซื้อจักรยานเก่ามาถอดเปลี่ยนอะไหล่ แล้วซ่อมสร้างใหม่สวยงาม ขายได้กำไรคันละสิบเหรียญ …
ท่านแข็งแรง มีเนื้อมีหนังขึ้น มีกำลังพอที่จะ….
คิดการอะไรใหญ่ๆได้แล้ว !?
ตอนที่ไทยยึดครองดินแดนเขมร ที่เคยเป็นของไทยในสมัยที่สยามเป็นนักล่าเมืองขึ้นใหญ่ประจำถิ่น กลับมาอยู่ในอ้อมกอดอีกครั้งหนึ่งนั้น …. คนเขมรที่ไม่ชอบการปกครองของฝรั่งเศส ก็อพยพครอบครัวเข้ามา หวังพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตามศัพท์ที่เคยเรียกขานกัน วันหนึ่งๆ หลายสิบครัวเรือน …. ตอนนั้นพระยาทรงฯ ก็ส่งคนเข้าไปแทรกซึมหาข่าวว่าข้าราชการ บุคคลสำคัญของไทย มีทัศนคติอย่างไร ในเรื่องสงครามที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้า ? แต่ยังไม่ทันจะเป็นผล เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่รวดเร็วมาก ….
รัฐบาลไทยได้จัดแบ่งการปกครองใหม่ในเขมร
กำเนิด จังหวัดพิบูลสงคราม
โดยยุบจังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดอุดรมีชัย และจังหวัดบันเตียเมียนเจย มารวมเป็นจังหวัดเดียวตั้งชื่อว่า จังหวัดพิบูลสงคราม เพื่อเป็นเกียรติแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้พิชิต และ สร้างอนุสาวรีย์ไก่ขาวกางปีก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจอมพล ป. เพราะท่านเกิดปีระกา ไว้เป็นอนุสรณ์กลางจังหวัดนี้
(((( แต่ไหง๋เอาไก่ตอนอ้วนๆอย่างที่เขาเอาไปทำข้าวมันไก่ ไม่ใช่แบบไก่ชนสมเด็จพระนเรศวร ไปทำเป็นสัญญลักษณ์ ผมก็ไม่เข้าใจ…)))
อนุสาวรีย์นี้พอสงครามเลิก คนเขมรก็ทุบลงไปเป็นอิฐหักกากปูนตามระเบียบ …. !!! เท่านั้นไม่พอ รัฐบาลไทย ยังเปลี่ยนชื่ออำเภอของเขมร ตามชื่อแม่ทัพนายกองต่างๆ เช่นมี อำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต , อำเภอพรหมโยธี , อำเภออธึกเทวเดช และอำเภอสินธุสงครามชัย ในลาวก็มี อำเภออดุลเดชจรัส , อำเภอหาญสงคราม และอำเภอวรรณไวทยากร
…. ไม่ต้องสงสัยว่าชื่อเหล่านี้จะสร้างความสับสนเพียงไรต่อคนในท้องที่เหล่านั้น แม้คนไทยแท้ๆ ที่นั่นยังเรียกชื่อยาวๆไม่ถูก ท่านคงพอจะเข้าใจความรู้สึกของคนเขมรกับคนลาวได้นะครับ ??
ยังงงกับชื่ออำเภอไม่เสร็จ พี่ท่านเล่นเอา “วัธนะธัมนำไทยไปสู่มหาอำนาจ” ไปบังคับใช้ กับเขาอีก…. คนเขมรก็ต้องฝืนใจสามารถมารำวงหลังอาหารกลางวัน เพลงไทยไทรโยคได้ แต่เมื่อเล่นแรงหนักขึ้น แบบว่า สั่งโค่นต้นหมาก ตัดต้นพลู ไม่ให้คนเขมรกินหมาก เพราะเป็นคนไทยแล้ว ผู้หญิงต้องสวมหมวก ไปติดต่อราชการ คนเขมรก็เริ่มอกจะแตก ครั้นถึงข้อบัญญัติให้ผู้ชายต้องหอมแก้มเมีย ก่อนออกจากบ้านแบบฝรั่งมังค่าผู้เจริญแล้ว พ่อบ้านผู้นำครอบครัวก็สั่งให้สมาชิกลูกเด็กเล็กแดง อพยพกลับไปอยู่กับฝรั่งเศสนายเก่าดีกว่า นายใหม่มันบ้าๆบอๆ เต็มที ตอนแรกๆ คนเขมรอพอพไปอยู่เขตไทย วันหนึ่งหลายสิบครอบครัว ตอนหลังๆ อพยพออกมาเป็นร้อย คนเขมรวุ่นวายเดือดร้อนกันไปทั่ว แนวร่วมของพระยาทรงฯ ที่คอยส่งข่าวเมืองเขมรในเขตไทยให้ถึงกับสลายตัว
ศึกมหาอำนาจ
ท่านผู้อ่านยังคงจำ นาย มองซิเออร์ วิกเตอร์ บูรเกย หรือ อาบู ผู้ที่พระยาทรงเจาะจงให้พาตนนำเงิน ๘๐๐ เหรียญที่มีคนของรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสนำมาให้ ไปบริจาคต่อกับสภากาชาด เพื่อจะได้เข้าหูเจ้าของเงิน ได้นะครับ ?
ครั้งสุดท้ายที่ อาบู มาหาพระยาทรงฯ บอกว่า ตนกำลังจะเดินทางไปฝังตัวกับญาติพี่น้องทางแม่ที่กรุงเทพฯ เพื่อสืบเสาะดูว่า มีใครในบ้านเมืองที่คิดจะต่อต้านญี่ปุ่นบ้าง เพื่อจะได้หาทางเชื่อมโยงร่วมทำงานใหญ่กันต่อไป…
พระยาทรงฯ ท่านเห็นดีด้วย แต่เตือนว่า… ต้องระมัดระวังตัวให้ยิ่งยวด สายลับไทยเยอะแยะ แทบจะเดินชนกันตายอยู่แล้ว ยังมีสายลับของญี่ปุ่นมาเสริมเข้าไปอีก อาบู ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบให้มาก อย่าเอาแต่ได้ โดยไม่คิดเสีย อาบู แสดงความขอบคุณแล้วก็ร่ำลา หลังจากนั้นแล้วยังไม่ได้พบกันอีกเลย ….
ระหว่างที่ แสนยานุภาพของญี่ปุ่นในอินโดจีน เคลื่อนพลเข้าประชิดชายแดนทั้งด้านเขมรและลาว ในอ่าวไทยก็มีเรือรบ และเรือลำเลียงพล อย่างคึกคัก รอคำสั่งปฏิบัติการอยู่นั้น….
นายทหารบก ยศพลตรีของกองทัพลูกพระอาทิตย์ ก็ขอนัดหมายมาพบ เพื่อเยี่ยมคำนับท่านที่บ้านในกรุงพนมเปญ ถึงสามครั้ง โดยครั้งที่สาม ซึ่งเป็นครั้งสำคัญที่สุด มากันถึงห้าคน ระหว่างนั้น คุณทวีวงศ์ พันธุมเสน บุตรชายคนที่สอง ผู้เคยเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นสี่ห้าปี มาทำหน้าที่เป็นล่าม …
- คำถามแรก
หลังจากที่ บลาๆๆๆ กันแล้ว…. ญี่ปุ่นอยากทราบว่า ในฐานะที่ร่วมงานสำคัญยิ่งยวดกันมา พระยาทรงสุรเดช คิดว่า หลวงพิบูลสงคราม, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, หลวงอดุลเดชจรัส , หลวงสินธุสงครามชัย เป็นคนอย่างไร และ เชื่อถือได้หรือไม่ ?
พระยาทรงสุรเดช ได้แจ้งความรู้สึกไปโดยสุจริตใจว่า บุคคลทั้งสี่มีความรักชาติบ้านเมือง และมีอุดมการณ์สูงคล้ายคลึงกัน หลวงพิบูลฯ นั้น เป็นผู้ที่ใครได้คบหาแล้ว ยากที่จะมองข้ามความสุภาพอ่อนน้อม มีความสามารถ ผูกใจคนให้นิยมรักชอบตนได้ดียิ่ง ….
ญี่ปุ่นสวนกลับมาตรงนี้ว่า แล้วจะเชื่อได้ไหมว่า หลวงพิบูลจะจริงใจต่อญี่ปุ่น ?
ท่านก็ตอบอย่างมีชั้นเชิงว่า “คนญี่ปุ่นน่าจะทราบดีกว่าท่าน” คบเป็นมิตรสนิทสนมกันมานานแล้วมิใช่หรือ ?
ญี่ปุ่นเสียงอ่อยลง บอกว่า “ไม่มีความมั่นใจเลย พฤติกรรมของหลวงพิบูลฯ บางอย่างเอนไปเอนมา ….”
แล้วหลวงอดุลล่ะ คนคนนี้เป็นอย่างไร ? …
พระยาทรงสุรเดช ตอบว่า คนนี้เป็นคนทำงานเอาจริงเอาจัง มีแนวทาง นโยบายชาตินิยมน่าสรรเสริญ
ญี่ปุ่นถามเข้มว่า “แล้วหลวงอดุลชอบญี่ปุ่นหรือไม่ ?” พระยาทรงหัวเราะ ใครๆ ก็รู้กันทั้งเมืองว่า หลวงอดุลเกลียดญี่ปุ่น แต่โดยส่วนตัว ที่คบกันแบบเพื่อนฝูงแล้ว ญี่ปุ่นคนไหนรัก คนไหนชอบหลวงอดุล หลวงอดุลก็รัก ก็ชอบตอบ เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป ญี่ปุ่นก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่ …
เอ้า ตานี้ หลวงสินธุ์ แม่ทัพเรือ พระยาทรงฯ ก็บอกว่า คนนี้เป็นคนตรงไปตรงมา นิสัยซื่อสัตย์มั่นคงเด็ดเดี่ยว เห็นประจักษ์ในวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่ามีความรู้ ความสามารถ ทำงานจริง น่านับถือ
คนสุดท้าย … หลวงประดิษฐ์ ….
พระยาทรงฯ ท่านบอกว่า ตามสายตาท่านแล้ว เป็นคนสุขุมล้ำลึก มีความรักชาติ …. แล้วก็เงียบ ….
ญี่ปุ่นก็ผงกหัวขึ้นๆลงๆ ไม่ว่ากระไร นิ่งไปสักครู่
ก็ยิงคำถามสำคัญ ช้าๆ และหนักแน่นว่า
“พระยาทรงสุรเดช สนใจจะทำงานการเมืองในช่วงนี้หรือไม่ ?”
ท่านยิ้มเปิดเผย ตอบว่า “ไม่ขอสนุกด้วยอีกแล้ว” เพราะท่านได้รับบทเรียนที่ล้ำค่า คนอย่างท่าน ไม่เหมาะที่จะเป็นนักการเมืองบัดนั้น คณะนายทหาร ที่มาด้วยก็ช่วยกันหว่านล้อม พร้อมข้อเสนอประกอบเหตุผลมากมาย ท่านก็ยืนยันคำตอบเดิม
**** ผมพยายามจะแคะไค้ มานำเสนอท่านผู้อ่านว่า ญี่ปุ่นตั้งข้อเสนออย่างไร แต่ก็ล้มเหลว เพราะ ท.ส.ของท่านผู้เขียนบันทึกนี้ ได้หักปากกาทิ้งเสียแล้ว จบกัน ….
นายพลลูกพระอาทิตย์ทั้งห้าสุดปัญญา
จะเปลี่ยนใจนายพันเอกผู้มักน้อย…..
พระยาทรงสุรเดช ไม่ยอมขายตัว เป็นหุ่นเชิดให้รัฐบาลทหารของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ นายพลลูกพระอาทิตย์ทั้งห้า ก็ลุกขึ้นคำนับ อย่างสุดซึ้ง ขอลากลับไปรับประทานซูชิดีกว่า กว่าจะสิ้นสุดไปจากสายตาซึ่งกันและกันได้ ก็โค้งกันไปโค้งมาเกือบสิบครั้งตามธรรมเนียม ….
หลังจากญี่ปุ่นขึ้นเมืองไทยแล้วเป็นปี….
พระยาทรงฯ ได้รับจดหมายติดแสตมป์ลาว ส่งมาถึงท่านหนึ่งฉบับ ภายในบรรจุกระดาษเขียนข้อความละเอียดยิบ จำนวนสามแผ่น ท่านจำได้ว่า ที่จ่าหน้าซอง เป็นลายมือของ อาบู มีกระดาษชิ้นเล็กๆ ปลิวลงมา ขณะดึงจอหมายออกจากซอง
ท่านอ่านข้อความในกระดาษชิ้นนี้ก่อน …. ผู้เขียนแจ้งว่า …
“ตนรับฝากจดหมายของอาบู หวังจะถือมาให้ท่านโดยตรง ด้วยมือตนเอง เพื่อเสวนาเรื่องอื่นๆ กันด้วย แต่ระหว่างปฏิบัติราชการอยู่ที่เวียงจันทน์ ถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพด่วน จึงจำเป็นต้องส่งจดหมายที่อาบู ส่งมาให้ทางไปรษณีย์ พร้อมกับแจ้งว่า ตนจะมาอินโดจีนอีกครั้งหนึ่ง ในสองเดือนข้างหน้า ถึงตอนนั้นจะหาโอกาสมาหาท่านด้วยตนเอง”
จดหมายของอาบูยืดยาว บรรยายการเดินทางเป็นอย่างไร ใครอุปถัมภ์ ใช้วิธีการสืบความอย่างไร จึงได้เรื่องว่า บุคคลสำคัญของไทย ผู้ใด ที่มีความคิดจะต่อต้านญี่ปุ่น จึงได้พยายามหาทางเข้าพบ ….ในชั้นต้น “ผู้ใหญ่” ไม่เชื่อถือว่า ผู้ที่ส่งสัญญาณมา จะเป็นพระยาทรงฯ แต่หลังจากแสดงหลักฐานและภาพถ่าย จึงยอมเชื่อ และให้ส่งข่าวมาบอกว่า ตนยินดีที่สุด ที่จะได้ติดต่อกันเพื่องานของชาติในอนาคต …
“ผู้ใหญ่” ที่ว่านี้มีสองคน ? เป็นคนสำคัญที่สุดของชาติ ….
ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาเต็มเมืองไทยนั้น “ผู้ใหญ่”ทั้งสองอยู่กันคนละขั้ว ยากที่จะร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ ดังนั้น เพื่อมิให้ พระยาทรงฯ แคลงใจ อาบู จึงเขียนอธิบายยืดยาวว่า เหตุผลใดที่ “ผู้ใหญ่” ทั้งสองหันมาจับมือกันได้ ? ท้ายของจดหมายได้เร่งเร้า ให้พระยาทรงฯ เริ่มดำเนินงานตามแผนที่คิดไว้โดยด่วน และสั่งการผ่านผู้ที่ถือหนังสือนี้มาติดต่อด้วย …
เรื่องที่ “ผู้ใหญ่” ทั้งสองจับมือกันนั้น พระยาทรงฯ ท่านยัง “ไม่ปลงใจเชื่อจริงๆ” ท่านจะรอจนกว่าจะได้ซักถามผู้ที่จะถือหนังสือจากเมืองไทยมาพบท่าน เพื่อทราบข้อมูลที่หนักแน่นกว่านี้ ….
***ผมไม่สามารถจะเป็นผู้เฉลยเสียเองว่า “ผู้ใหญ่” ทั้งสองท่านเป็นใคร เพราะร้อยเอกสำรวจ ไม่ได้แจ้งนาม ไว้ในหนังสือที่เขียน ถึงแม้พอจะเดาได้ก็ตาม เมื่อความตื้นลึกหนาบาง ในประวัติศาสตร์คลี่คลายลงแล้ว … ก็ใครเล่า ? ที่มีบทบาทเด่นยิ่งและรองลงมา ในเรื่องความสำเร็จของขบวนการเสรีไทยในประเทศ ?
เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยนั้น ผมนั่งคิดนอนคิด สมมุติตนว่า ถ้าเราเป็น จอมพล ป. เราควรจะทำอย่างไร ? พระยาทรงฯ ท่านเลือกข้างสัมพันธมิตร แต่ท่านไม่ได้เฉลยว่า ในยกแรก ญี่ปุ่นจะต้องจะถล่มเรา แล้วเราควรจะหยุดรบ เพื่อสงบสงครามแบบไหน ? ก่อนที่จะหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในป่า หรือนอกประเทศ …. แล้วตอนนั้นกรุงเทพจะไม่เละแบบเซี่ยงไฮ้ไปแล้วหรือ ? จอมพล ป. ท่านก็รบ แต่ที่หยุดเร็วไปหน่อย ก็เพราะเสียดายบ้านเมือง ปราสาทราชวัง ส่วนการหุนหัน ไปร่วมวงไพบูลย์ กับญี่ปุ่น ถึงกับประกาศสงครามกับอังกฤษ และอเมริกา อาจจะเป็นด้วยท่านเชื่อว่า “ญี่ปุ่นจะชนะสงคราม” ก็เป็นได้ มิใช่เพราะโดนบีบจนหน้าเขียวอย่างเดียว
นายปรีดีเอง ก็เถอะ ได้ชื่อว่า ปราชญ์เปรื่อง แต่ก็คิดวิธีง่ายๆ ดังเช่น ที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยในวอชิงตันได้กระทำไปไม่ออก ท่านทูตเพียงแต่เดินไปบอกรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกาว่า รัฐบาลไทยสั่งให้ไอมายื่นหนังสือประกาศสงครามกับยู แต่ไอไม่ประกาศ เพราะไม่เห็นด้วย … ขอให้ยูช่วยสนับสนุนให้ไอ ตั้งขบวนการใต้ดิน เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศของไอ จะได้ไหม ?? รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ก็บอกว่าโอเค !!! ถ้าท่านปรีดีคิดได้ในวิธีการนี้ และสั่งการในทางลับ ให้เอกอัครราชทูตในกรุงลอนดอน ทำอย่างเดียวกันกับวอชิงตัน สถานภาพของไทยหลังสงครามจะดีกว่านี้มาก ….
เมื่อไทยหาญกล้าไปประกาศสงครามกับเขาโต้งๆ อังกฤษจะเอาเราตาย การที่สัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดกรุงเทพ โดยมิได้มีเป้าหมาย จะทำลายสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทย เหมือนเช่นที่ญี่ปุ่นขู่ ก็เพราะมีขบวนการเสรีไทยคอยชี้เป้าไม่ให้สะเปะสะปะอยู่หรอก แม้อเมริกันก็เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม ดังเช่นการเว้นเกียวโต มิให้ต้องระเบิดแม้เพียงลูกเดียว ….
แต่อังกฤษไม่คิดอย่างงั้น!!! พระราชวังมัณฑเลย์ของพม่าโดนเจ้าอาณานิคมทิ้งระเบิดเพลิงใส่ จนเหลือแต่ซาก ทั้งที่เป็นปลายสงครามแล้ว เพียงเพราะญี่ปุ่นไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่นั่นเท่านั้น ….
มิใช่ผมจะมองข้ามฝีมือ และความพยายามของมนุษย์นะครับ แต่ก็อดคิดไม่ได้ที่ ผู้หลักผู้ใหญ่บอกว่า บ้านเมืองของเรา มีพระสยามเทวาธิราชปกป้องคุ้มครอง ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาอยู่ จึงมีคนอย่างจอมพล ป. ที่ตัดสินใจยอมญี่ปุ่น บ้านเมืองจึงไม่พินาศในเบื้องต้น ส่วนเบื้องปลายก็มีขบวนการเสรีไทย ทั้งสายอเมริกา สายอังกฤษ และสายในประเทศ มาช่วยทำให้ฝรั่งไม่ถล่มเราเละเทะ ดังเช่นชาติผู้แพ้สงครามจะพึงโดนกระทำ กลายเป็นทุกขั้วความคิดล้วน ได้ทำสิ่งที่ถูกต้องหมด ไม่มีใครผิด …..
สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศรับรองในทันทีว่า “คำประกาศสงครามของไทยเป็นโมฆะ” และได้แสดงน้ำใจ ไม่เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่อย่างใด…. ผิดกับอังกฤษ ซึ่งมีท่าทีแตกต่างกัน เพราะรัฐบาลอังกฤษ ได้ประกาศสงครามตอบไทยด้วย จึงได้ยื่นข้อเสนอให้ไทยปฏิบัติมากมาย เพื่อยกเลิกสถานะคู่สงคราม แต่อเมริกาอีกนั่นแหละ ที่ได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยไทยเจรจาต่อรอง จนกระทั่งได้ลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” อันมีใจความสำคัญคือ
“ ไทยจะต้องคืนดินแดนของอังกฤษในมลายูและรัฐฉาน กับต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของอังกฤษที่ถูกไทยยึดครองระหว่างสงคราม และต้องขายข้าวสารจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนล้านตัน แก่อังกฤษในราคาถูก เพื่อนำไปเลี้ยงคนในอาณานิคม”
ซึ่งนับว่าไทยได้รับการผ่อนผันมากพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศฝ่ายอักษะด้วยกัน เพราะไทยไม่ต้องถูกยึดครอง และไม่มีข้อผูกมัดทางการเมืองและการทหารใดๆ ที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียเอกราช และอธิปไตย
ส่วนการเจรจายุติความเป็นศัตรูกับฝรั่งเศส ไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีนทั้งหมด แต่ฝรั่งเศสมีแถม เรียกร้องที่จะให้ไทย มอบพระแก้วมรกตให้แก่ฝรั่งเศส โดยอ้างว่า พระแก้วมรกตเคยอยู่ในลาวมาก่อน ถึงสองร้อยกว่าปี ก่อนที่จะมาอยู่ทีกรุงเทพฯ และเมื่อลาวเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศษแล้ว ไทยจึงควรจะต้องคืนพระแก้วมรกตให้แก่ลาวด้วย แต่ไทยก็อ้างว่า พระแก้วมรกตถูกค้นพบครั้งแรกในดินแดนไทย แต่การที่พระแก้วมรกตไปอยู่ในประเทศลาว เป็นเพราะว่า พระไชยเชษฐาได้นำพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ในเมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ในที่สุด ดังนั้น การที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อันเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ยังกรุงธนบุรีและกรุงเทพ ตามลำดับนั้น เป็นการนำกลับคืนมาสู่มาตุภูมิ กรณีย์นี้ อังกฤษกับอเมริกาเห็นด้วยกับไทย ทำเอาฝรั่งเศสหน้าม้านไป ….
บทความ |เรียบเรียง
โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
โปรดติดตามตอนต่อไป : ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์