ผลลัพธ์ของฝ่ายกบฎ
เมื่อทหารหัวเมืองที่ถูกคณะกู้บ้านกู้เมือง หลอกให้มาปราบคอมมิวนิสต์นั้น… ครั้นทราบจากวิทยุกระจายเสียงว่า รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าการกระทำของตนเป็นการกบฏ ถือว่าเป็นความผิดอุกฤษ ก็ต่างพรั่นตัวกลัวอาญา รัฐบาลปราบกบฏ ได้โดยง่ายเช่นนั้น ก็ด้วยการใช้สงครามจิตวิทยา ความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏจึงเกิดขึ้นก่อนที่จะรบกันเสียด้วยซ้ำ ….
แต่การที่พวกเขา มิได้ยอมจำนนในทันที ก็เพราะ ต่างก็นึกว่าไหนๆ ก็ไหนๆ ถูกหาว่าเป็นกบฏแล้ว ก็ตกบันไดพลอยโจน พากันจับอาวุธจะสู้ตาย พอได้ยินรัฐบาลประกาศย้ำแล้วย้ำอีกว่า ... “จะไม่เอาโทษแก่นายทหารชั้นผู้น้อย” ที่มาสวามิภักดิ์โดยดี ก็เกิดความปั่นป่วนรวนเรขึ้น ตลอดแนวรบของฝ่ายกบฏ นายทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งมิใช่เป็นตัวการ ในการคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเห็นว่า ตนถูกผู้บังคับบัญชาชักจูงมาสู่ผลร้าย ต่างก็คิดหลบหนีเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล
GQ กางเกงชิโน ผ้ายืด สีแดง ใส่สบาย น้ำหนักเบา สะท้อนน้ำ เหมาะกับอากาศร้อน สบายจริงๆ สบายจัดๆ
GQ กางเกงชิโน >> คลิ๊ก
สาเหตุนี้ ทำให้พระยาศรีสิทธิสงคราม เห็นความจำเป็น ที่จะต้องถอยไปยึดแนวต้านทานอยู่ที่ตำบลปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยจะใช้กำลังทหารร่วมใจของตนจริงๆ ยืนหยัดต่อสู้จนวาระสุดท้าย ส่วนพวกย่อท้อคิดหลบหนีไปสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลนั้น ก็จะทิ้งไว้ที่ดอนเมืองให้มีโอกาสได้สวามิภักดิ์โดยสะดวก ….
บรรดานายทหาร ที่หนีทัพแถวดอนเมือง อยุธยา และสระบุรีนั้น ก็ได้พากัน เข้ามอบตัว ด้วยความเชื่อมั่นตามคำประกาศของรัฐบาลว่า จะไม่เอาโทษ แต่ความหวังของพระยาศรีฯ ที่ว่า เมื่อถอยไปปากช่องแล้ว ทุกคนจะคิดสู้ตายก็พลิกล๊อก!? เพราะตัวพระยาศรีฯ เองเสียชีวิตในที่รบเสียก่อน พอมีเครื่องบินเอาใบปลิวมาโปรยข่มขวัญ สำทับเข้าให้อีก ปากช่องต้องแตก ก็ด้วยกบฏที่หนีเข้าสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล จนไม่มีใครคิดจะสู้รบ ….
บรรดาผู้คิดสู้ตาย แต่มิได้ตายนั้น หลังจากพระองค์เจ้าบวรเดช ขึ้นเครื่องบินหนีไปแล้ว ก็ขี่ม้าตามข้ามเขตแดนไปสู่อินโดจีน พวกที่เข้าสวามิภักดิ์ ต่อรัฐบาลทั้งหมดนั้น อัยการศาลพิเศษ ได้เริ่มดำเนินการไต่สวน และฟ้องร้อง …
โดยมิได้คำนึงถึงคำประกาศของรัฐบาลที่ว่า ” …ไม่เอาโทษนั้นเลย …!!”
หลังจากใช้เวลาพิจารณาคดี ๑ ปีเต็ม ศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้น ก็พิพากษาให้
- ประหารชีวิต ๖ คน
- จำคุกตลอดชีวิต ๖๑ คน
- จำคุก ๒๐ ปี ๖ คน
- จำคุก ๑๖ ปี ๑๗ คน
- จำคุก ๑๕ ปี ๒ คน
- จำคุก ๑๔ ปี ๑๓ คน
- จำคุก ๑๒ ปี ๘๙ คน
- จำคุก ๑๐ ปี ๙ คน
- จำคุก ๙ ปี ๓๘ คน
- จำคุก ๕ ปี ๑ คน
- จำคุก ๓ ปี ๒ คน
- จำคุก ๒ปี ๒ คน
- จำคุก ๑ ปี ๑ คน
- จำคุก ๖ เดือน ๒ คน
- จำคุก ๔ เดือน ๑ คน
รวมทั้งสิ้น ๒๕๐ คน
จำเลย ที่ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต ซึ่งจะใช้วิธีการ “ตัดหัว” ตามกฏหมายเดิม นั้น … พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ทรงยอมลงพระปรมาภิไธย …. รัฐบาลก็ดึงดัน ไม่ยอมอ่อนข้อ จะเอาชนะท่านให้ได้ จึงเป็นหนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่ทำให้ ทรงสละราชสมบัติ ….
รัฐบาลจึงหาทางลงได้ โดยถือวโรกาสที่พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ …
ลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดทุกคดี …. พวกนักโทษการเมืองจึงเหลือโทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิต …
แต่พวกนี้อยู่บางขวางได้ไม่กี่ปีก็เนรเทศไปไว้ที่เกาะตะรุเตาหมดทุกคน…
ห้าปีเศษต่อมา
รัฐบาลได้จัดทำ การอบรมนักโทษการเมือง ที่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย แล้วปลดปล่อยเป็นอิสระ แต่ก็ยาวนานถึง ยี่สิบสี่ปี หลังจากนั้น กว่ารัฐบาลหลวงพิบูลฯ จะสิ้นอำนาจ ในปลายสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว รัฐบาลใหม่ของนายควง อภัยวงศ์ จึงได้ออกกฎหมาย นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกยุคทุกสมัย ….
ทำให้บรรดานายทหาร และข้าราชการที่ยังต้องโทษอยู่ ได้เป็นอิสระชน พวกที่พ้นโทษไปแล้ว ก็ได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์คืนทั้งหมด เสมือนไร้ความผิด สิ้นมลทินทั้งหลายทั้งปวง ….
พระยาทรงสุรเดช
รู้เห็นเป็นใจด้วยกับ
กบฏบวรเดชหรือเปล่า ?
*** ผมก็เชื่อว่า ท่านคงระแคะระคายมาก่อนแน่ๆ แต่ท่าน อาจจะเบื่อการเมืองจริงๆ …ก่อนหน้านั้น จึงได้ลาออกพร้อมกับชวน “สี่เสือ” ลาออกพร้อมกันทั้งคณะ แล้วตัวท่านกับพระประศาสน์ ก็รีบเดินทางไปพม่า… ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์ หลวงพิบูล ปฏิวัติเงียบพระยามโน โดยชูพระยาพหลขึ้นบังหน้า พอท่านกลับมาถึง หลวงพิบูลก็ส่งเทียบเชิญให้ร่วมงานกันอีก โดยเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ จะเป็นตำแหน่งใดก็ได้ แต่ยกเว้นกลาโหม แต่ท่านก็ปฏิเสธ ส่วนพระยาฤทธิ์อัคเนย์นั้น รับเป็นรัฐมนตรีเกษตราธิการ และพระประศาสน์ ยอมรับเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม…
หลวงพิบูลฯ จึงตั้งข้อสงสัยว่า พระยาทรงฯ มักใหญ่ใฝ่สูง จะเอาแต่รัฐมนตรีกลาโหม ที่หลวงพิบูลครองอยู่เท่านั้น ทั้งๆที่ความเป็นจริง ท่านอาจพอใจแค่จะทำโครงการโรงเรียนนายทหารชั้นสูงที่คิดไว้ ให้สำเร็จเท่านั้น
ครั้นทหารนอกราชการกับทหารหัวเมือง มีการเคลื่อนไหวผิดสังเกตุ ท่านก็คงรู้เท่าๆ กับที่รัฐบาลรู้ เพียงแต่ เดาไม่ถูกว่า เรื่องจะเกิดวันไหนเท่านั้น…. ท่านจึงขอลาไปดูงานยาวถึงยุโรป จะได้ไม่ต้องเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ด้วย เพราะหากอยู่ก็เปลืองตัว ตอนปฏิวัติครั้งแรก ท่านเป็นเบอร์ ๒ หลวงพิบูลยังแค่เด็กรุ่นน้อง รอฟังคำสั่ง แค่ปีเดียว หลวงพิบูล ก็เติบโตขึ้นมาเสมอบ่าเสมอไหล่ เมื่อท่านลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็เท่ากับยอมให้เขาล้ำหน้า หากเกิดกบฏขึ้นมา เป็นทหารก็ต้องเข้าสนามรบ ถึงตอนนั้นแล้ว ใครจะเป็นหมู่เป็นจ่า …?
พระยาทรงออกเดินทางไปได้เพียง ๒๐ วัน
ก็เกิดกบฏขึ้นตามคาด !!!
ทันทีที่ได้รับรายงาน พระยาพหลฯ ได้มีคำสั่งให้ โทรเลขไปตามพระยาทรงฯ กับพระประศาสน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทาง ให้กลับมาช่วยปราบกบฏโดยทันที และให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ …
ปรากฏว่า กว่าจะได้รับโทรเลข เรือได้ออกจากท่าโคลัมโบไปแล้ว กำลังมุ่งหน้าสู่ยุโรป พระยาทรงฯ จึงได้โทรเลขกลับไปว่า ตนไม่มีอำนาจจะสั่งการกัปตัน ให้นำเรือย้อนกลับเข้าท่าได้ จะกลับได้เร็วที่สุดก็ต่อเมือ เรือถึงท่าที่ปอร์ตซาอิด เมืองอียิปต์ แล้วต้องรอเรือโดยสาร ที่จะย้อนกลับมาอีก ฉะนั้นจึงอย่าได้รอตน ขอให้ดำเนินการที่สมควรไปเลย ดังนั้นเมื่อลงจากเรือที่อียิปต์แล้วกว่าจะจับเรือขากลับมาถึงโคลัมโบ ก็ได้รับข่าวล่ามาเร็วว่า เขาก็ปราบกบฏกันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อพระยาทรงกลับมาถึงกรุงเทพจริงๆ ก็ไม่มีบทบาทอะไรให้ทำ ….
แต่เรื่องนี้กลายเป็น พระยาทรงฯ รับรู้รับเห็นว่า จะเกิดการกบฏ จึงได้รีบเดินทางหลบออกไปต่างประเทศ จากกบฏบวรเดช จึงต่อยอดไปเป็น กบฎพระยาทรงฯ ด้วยประการฉะนี้
ควันแค้นที่ไม่มีวันสิ้น
พระยาทรงสุรเดช ท่านเห็นว่า ท่านคิดถูกแล้ว ที่หลีกลี้ไปจากเมืองไทย เมื่อได้กลิ่นกบฏ ท่านกับหลวงพิบูลฯ ทำงานเคียงข้างกันไม่ได้ ไม่ใช่เพราะหลวงพิบูลเป็นนายพันโท ที่ก้าวขึ้นมาใหญ่กว่านายพันเอกเพียงอย่างเดียว แต่บุคคลทั้งสอง ต่างฝ่ายก็ต่างระแวง ไม่ไว้ใจกันเสียแล้ว ….
ความระแวงนี้ ได้รับการพิสูจน์ว่าจริง เมื่อกองทัพฝ่ายเหนือ ยกมายึดดอนเมืองนั้น พระยาพหลฯ ได้แต่งตั้งหลวงพิบูลเป็นแม่ทัพปราบกบฏ ให้พันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส) ทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนคร พระสิทธิฯ ผู้นี้ ทราบกันดีว่าเป็นนายทหารคนสนิทผู้จงรักภักดีของพระยาทรงฯ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่เกี่ยวกันก็ไม่เป็นไร ครั้นหลวงพิบูลฯ ร้องขอนายทหารผู้ใหญ่ ให้ไปเป็นที่ปรึกษาที่กอง บ.ก.ซึ่งตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟบางซื่อ พระยาพหล กลับตั้งพระสิทธิ์ขึ้นไป เมื่อพระสิทธิ์ผู้มียศพันเอก ไปรายงานตัวต่อพันโท ก็แหม่งๆอยู่ หลวงพิบูลฯ ก็พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง โดยมอบอำนาจให้พระสิทธิ์สั่งงานใดๆได้เต็มที่ทุกอย่าง โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากหลวงพิบูล พระสิทธิ์ตรวจแผนการวางกำลังแล้วเห็นว่า หลวงพิบูลไม่ได้ตั้งแนวรักษาปีกตามหลักยุทธวิธี มีความจำเป็นที่จะต้องจัดขึ้นโดยเร็ว พระสิทธิ์ จึงสั่งให้ทหารจากแนวหลังให้ขึ้นมาสมทบเพื่อระวังรักษาปีก …
แต่ก่อนที่ทหารแนวหลังจะมาถึงตามคำสั่งนั้น กองทัพฝ่ายเหนือได้ปล่อย “ตอร์ปิโดบก” มาชนขบวนรถบรรทุกปืนใหญ่ที่ทุ่งบางเขน ก่อความระส่ำระสาย ตลอดแนวรบของฝ่ายพระนคร ….. หลวงพิบูล ก็วิ่งพล่าน รีบเร่งจัดทหารส่งขึ้นไปเสริมกำลังแนวหน้าอย่างอุตลุด พอดีกองทหารจากแนวหลังดังกล่าวมาถึง หลวงพิบูลก็ชี้นิ้วไปที่ทหารกองนั้น แล้วเร่งให้ขึ้นไปกับเขาด้วย ผู้กองบอกว่า ตนได้รับคำสั่งจากพระสิทธิ์ฯ จะให้มาประจำรักษาปีก … หลวงพิบูลได้ฟัง ก็โกรธจัด เพราะระแวงอยู่แล้วว่า พระสิทธิ์เป็นคนสนิทของพระยาทรง ซึ่งมีใจฝักใฝ่เข้าข้างทหารฝ่ายหัวเมือง เลยพาลหาว่า พระสิทธิ์ขัดคำสั่งของตน วิ่งปราดเข้าไปหาพระสิทธิ์ แล้วชักปืนพกจากซอง ออกมาทำท่าจะยิง เคราะห์ดี ที่นายทหารคนหนึ่งยึดมือไว้ทัน และอีกหลายคนก็ช่วยกัน ขัดขวางห้ามปราม หลวงพิบูลจึงกลับไป…
พอตกค่ำ หลวงพิบูลได้ไปหาพระสิทธิ์ เพื่อขอโทษ แล้วชี้แจงว่า ที่บันดาลโทสะถึงกับแสดงกิริยาเช่นนั้นก็ด้วยความเข้าใจผิด …
เรื่องนี้เป็นข่าวที่โจษขานกันมาก
ผู้สันทัดกรณีย์กล่าวว่า ความเข้าใจผิดของหลวงพิบูล คือ คิดว่าพระสิทธิ์กระทำการเพื่อช่วยเหลือฝ่ายตรงข้าม แต่ที่เข้าใจถูกก็คือ พระสิทธิ์กับพระยาทรงสนิทสนมกันมาก
ดังนั้น พันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล จึงต้องถูกกำจัด ในคดีกบฏ ๒๔๘๒ ได้เป็นจำเลยคนหนึ่ง ที่ศาลพิเศษตัดสินลงโทษประหารชีวิต …. !!!
เมื่อเสร็จศึกคราวนั้น พระสิทธิ์ได้รับการปลอบใจ จากพระยาพหล แต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนัก พระสิทธิ์ก็ลาออกจากทุกตำแหน่ง แล้วเดินทางไปดูงานทางทหารที่ประเทศพม่า กับพระยาทรง ระหว่างที่ไปได้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น
“หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ถูกคนร้ายจ่อยิงขณะกำลังอยู่ในรถ” โชคดีที่เพียงแต่บาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อพระยาทรง ได้ทราบข่าวว่าหลวงพิบูลถูกยิง ก็รีบเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อมิให้เป็นที่ต้องสงสัย ….
ผู้ที่ยิงชื่อ นายพุ่ม ทับสายทอง เป็นนักเลงสุพรรณบุรี ชอบดื่มเหล้าเมายา ใครเหม็นหน้าใครก็ขอเหล้าขวดเดียว แล้วจะให้ตีหัวหรือชกหน้าใครก็ได้ตามต้องการ
ชายผู้นี้ ถูกจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะแหวกฝูงชนเข้ามาใช้ปืนพกออโตเมติก ยิงหลวงพิบูลถึงสามนัดซ้อน ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗ เย็นวันนั้น ท่านรัฐมนตรีไปเป็นประธานการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ ระหว่างทหารเหล่าต่างๆ แล้วเพิ่งขึ้นรถจะกลับบ้าน แต่รอดตายอย่างปาฏิหาริย์ เพราะเผอิญนั่งลงแล้วกระบี่เกะกะขา จึงก้มตัวลงจัด ในจังหวะที่มือปืนลั่นกระสุน ลูกปืนเลยพลาดจุดตายไปถากต้นคอเป็นแผลยาว กระสุนอีกนัดหนึ่งเข้าทางสะบักหลัง ผ่านทะลุออกด้านหน้าโดยไม่โดนกระดูกไหปลาร้า จึงถือว่าบาดเจ็บเล็กน้อย
หลวงสุนาวินและนายทหารคนสนิท รีบลงจากรถ มาเอาเรื่อง …. นายพุ่มจึงผละหนี พร้อมกับยิงปืนเข้าใส่ แต่ก็ไปไม่รอด ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ ได้กรูเข้าจับกุมนายพุ่มไว้ได้ แล้วมอบให้ตำรวจเอาตัวไปส่งที่โรงพักชนะสงคราม ขณะนั้นพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาทมาถึง ก็ได้เข้ามานำหลวงพิบูล ขึ้นรถฟาร์โก้ของตำรวจหน่วยพิเศษไปส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที ได้รับซองบุหรี่ทองคำจากหลวงพิบูลเป็นรางวัล แต่ซวย เพราะหลวงพิบูลเกิดจำได้ ในภายหลังว่านายตำรวจคนนี้ ตอนเป็นทหารยศร้อยเอก ทำงานอยู่หน้าห้องของพระยาทรงสุรเดช ขุนนามนฤนาท จึงเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องโทษประหารในคดีกบฏพระยาทรง …
นายพุ่มให้การที่โรงพักว่า ต้องการแก้แค้น ที่น้องชายถูกตำรวจยิงตาย เพราะเข้าใจผิดว่า หลวงพิบูลเป็นนายของตำรวจทั้งหมด….. อ่านประวัตินายพุ่มแล้ว แม้จะติดคุกถึง ๗ ครั้ง แต่นอกจากครั้งแรกที่ติดนานหน่อย ที่เหลือก็ดูว่าเป็นคดีเล็กคดีน้อย ไม่ใช่เป็นมือปืนระดับพระกาฬ เช่นที่คนสมัยหลังๆ เขาจ้างมายิงคู่แค้นกัน คนพรรค์นี้ผู้ที่มีมันสมอง คงจะไม่จ้างมายิงบุคคล ซึ่งมีอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน ระดับหลวงพิบูล นายพุ่มน่าจะเป็นคนสติไม่ดีมากกว่า ที่อยู่ๆก็เอาปืนไปยิงรัฐมนตรีท่ามกลางคนนับพันๆ โดยคิดว่าตัวคนเดียวจะรอดออกมาใช้เงิน (ถ้ารับจ้างเขามายิง) ได้ ใครๆก็เชื่ออย่างนี้ แม้หลวงพิบูลเองตอนเกิดเรื่องขึ้นใหม่ๆก็ปลงๆไปแล้วว่า เป็นความซวยของตน
… แต่เรื่องนี้ พันตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส เพื่อนรักของหลวงพิบูล ที่เพิ่งโอนไปเป็นอธิบดีตำรวจไม่ปล่อยให้ผ่าน สั่งตำรวจลับไปสืบแถวสุพรรณถิ่นของนายพุ่ม พบว่ามีจ่านายสิบตำรวจสวัสดิ์ คุ้มครองอยู่ บังเอิญว่า จ่าตำรวจคนนั้น เป็นคนของพันตำรวจเอก พระยาธรณีนฤเบศร์ อดีตผู้บังคับการตำรวจกองปราบสมัยรัฐบาลเก่าอีกทีหนึ่ง เลยจับแพะมาชนกับแกะได้ …
พระยาธรณี (พิทย์ ผลเตมีย์) ในอดีตรับราชการเป็นนายทหารยศพันโท อยู่ที่พิษณุโลก มีผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งนามว่า ร้อยตรี แปลก ขีตตะสังคะ ต่อมาท่านย้ายสังกัด มาเป็นพันตำรวจเอกพระยาธรณีนฤเบศร ผู้บังคับการตำรวจกองปราม ได้ทำหมายจับบุคคลต้องสงสัย ๕ คน เสนอพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ มีรายชื่อดังนี้
๑ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
๒ พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
๓ นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
๔ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ๕ ดร. ตั้ว ลพานุกรม
แต่เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ไม่ทรงเชื่อ คนกลุ่มนี้ เลยรอดจากข้อหากบฏต่อแผ่นดิน…. แผนของคณะราษฎรจึงลุล่วงไปโดยสะดวก
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จแล้ว พระยาอธิกรณ์ ประกาศถูกเด้งออกจากราชการตามระเบียบ ส่วนพระยาธรณียังอยู่ และได้พยายามเสนออนุมัติ ที่จะจับกุมหลวงพิบูลอีกครั้งสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในข้อหากบฏ แต่ไม่สำเร็จเพราะพระยามโน เลือกที่จะยอมลาออก โดยไม่คิดสู้ พอรัฐบาลพระยาพหล ขึ้นมา ก็ปลดนายตำรวจหัวหน้าสายสืบท่านนี้ออกจากราชการ….
หลวงอดุลฯ สั่งให้ตำรวจจับพระยาธรณี มาตั้งข้อหาว่า เป็นผู้จ้างวานนายพุ่ม ให้ลอบสังหารรัฐมนตรีกลาโหม ด้วยค่าจ้าง ๑,๐๐๐ บาท ในสมัยนั้นเงินพันบาทใครมีก็นับว่าเป็นเศรษฐีย่อยๆได้ ก็ไม่รู้ว่าท่านเจ้าคุณจะลงทุนเอาเงินจำนวนมากขนาดนั้น มาจ้างกุ๊ย ที่รับจ้างตีหัวคนด้วยเหล้าขวดเดียว ไปฆ่าหลวงพิบูล แล้วท่านจะได้อะไรขึ้นมาก็ยังนึกไม่ออก….
แต่คดีนี้ พระยาธรณีฯ ท่านเลือกการยอมรับสารภาพ อาจจะเพราะว่า…
ถึงปฏิเสธอย่างไรก็ยากที่ศาลจะเชื่อจำเลย
ศาลอาญาตัดสินประหารชีวิตตามคาด
แต่เพราะจำเลยสารภาพ จึงปรานี ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ไม่ปรากฎทราบชะตากรรมของท่านต่อมา เพราะไม่ถือว่าเป็นนักโทษการเมือง ส่วนนายพุ่มเองโดนไป ๒๐ ปีเท่านั้น แต่แปลกเหมือนกัน ที่ชื่อของแกหายจ้อยออกไปจากประวัติศาสตร์การเมือง โดยไม่มีผู้ใดกล่าวถึงอีกเลย …. ทั้งๆที่สองสามปีต่อมา มีผู้ถูกประหารชีวิตอีกหลายคน ในคดีกบฏพระยาทรง ซึ่งศาลพิเศษเชื่อว่าได้ร่วมว่าจ้างนายพุ่ม ให้มาฆ่าหลวงพิบูลเช่นกัน คดีนั้นมีญาติพี่น้องนายพุ่ม มาให้การเป็นพยานโจทก์เพื่อซัดทอดจำเลยด้วย แต่นายพุ่ม ซึ่งน่าจะยังติดคุกอยู่ กลับไม่ถูกเรียกมากับเขาด้วย ???
เดาไม่ออกจริงๆว่า ตกลงตอนนั้นแกยังเป็นๆอยู่ในคุก หรือเขาใส่โลงหามออกมาก่อนหน้าแล้ว…
….หลวงพิบูลมีโอกาสหายใจได้โล่งอกอยู่พักหนึ่ง
แต่พอปีต่อมา ก็เกิดเรื่องคบคิดจะกระทำรัฐประหารขึ้นมาอีก !!!
ชื่อ กบฏนายสิบ
ผู้คิดการใหญ่เกินตัวอย่างน่าประหลาดใจครั้งนี้ เป็นทหารชั้นนายสิบ ๘ คน ในสังกัดกองพันทหารราบที่ ๒ ภายใต้บังคับบัญชาของพันตรี หลวงประหารริปู ไม่ปรากฏว่ามีนายทหารสัญญาบัตรเข้าร่วมด้วยสักคน ผู้ที่เป็นต้นคิดชื่อสิบเอกถม เกตุอำไพ ทั้งหมดมีหน้าที่คุมคลังอาวุธของกองพัน และเป็นผู้บังคับบัญชา โดยตรงของเหล่าพลทหารที่ตั้งใจจะนำออกปฏิบัติการในวันก่อการ
ระบบทหารของสังคมไทยนั้น นายทหารชั้นประทวน นับว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ของกองทัพ ตั้งแต่ระดับสิบตรี ถึงจ่านายสิบกระจายกันอยู่ทุกกองพันทหาร มีจำนวนมากกว่านายทหาร และเป็นคนกลุ่มเดียวกับราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นพลังเงียบ ที่มีความสำคัญ แต่มักจะถูกมองข้ามไปว่าไม่มีความหมาย ….
ส่วนสาเหตุที่นายทหารชั้นประทวนเหล่านี้ คิดยึดอำนาจนั้น คงจะเพราะหมดนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่เป็นที่พึ่ง เนื่องจากคราวกบฏบวรเดช นายทหารที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ได้ถูกกำจัด หรือลดอำนาจจนหมดสิ้นทุกกองทัพ แต่ยังเห็นว่า การเมืองยังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โยกย้ายทหารอย่างไม่คำนึง ถึงความเดือดร้อนของใคร เพียงแต่ต้องการเอาคนของตนเข้ามาค้ำบัลลังก์ แย่งชิงอำนาจกันไม่จบไม่สิ้น บ้านเมืองยุ่งเหยิง จนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ กลุ่มทหารชั้นผู้น้อย แต่จงรักภักดีไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้ที่ได้รับพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์ คงสะเทือนใจเป็นอย่างมาก ขนาดไม่กลัวตาย พร้อมจะพลีชีพกระทำการใหญ่ !!!
บทความ |เรียบเรียง
โดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
การที่วางใจให้เป็นกลางขณะคิดขณะเขียน จะช่วยได้มากในการหาความจริงให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุดครับ การอ่านก็ต้องวางใจให้เป็นกลางด้วย จึงจะได้รับผลตามวัตถุประสงค์
โปรดติดตามตอนต่อไป : ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์