miscellaneous

ชะตากรรมของ พระยาทรงสุรเดช | ตอนที่ ๑๑ นายสิบผู้คิดกบฏ

ความล้มเหลวของบรรดานายสิบผู้คิดกบฏ…

เป้าหมาย  ของการปฏิบัติการครั้งนี้  มุ่งจะสังหารบุคคลสำคัญในฝ่ายรัฐบาลหลายคน เช่น พันเอก หลวงพิบูลสงคราม, พันตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ , พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ , พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายให้ความเคารพ กลุ่มนายทหารชั้นประทวนไม่ได้คิดจะสังหาร แต่จะจับไว้เป็นตัวประกัน แต่ถ้าหากมีการขัดขืนก็จะจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน….

โดยวางแผนจะยึดเอาตึกกระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการ จากนั้นเมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็จะถวายราชบัลลังก์คืนแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ….

Camel รองเท้าผ้าใบลําลอง

ความผิดพลาดที่นำไปสู่ความหายนะของกบฏนายสิบ ก็เนื่องมาจาก พวกนี้ไม่มีรถถัง จึงต้องไปหารับสมัครพรรคพวก ที่อยู่กรมรถรบ มาสมทบด้วย… ผู้ที่ทำหน้าที่ทูตเจรจาเกลี้ยกล่อม  คือ ส.ท.หม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ที่ข้ามไปฝั่งกองพันทหารราบที่ ๓ ซึ่งมีกรมรถรบสังกัดอยู่ โดยมองข้ามความเป็นจริงที่ว่า รถถังหรือรถรบ เป็นกองกำลังอารักขา คณะราษฎร มาแต่แรก และ “เป็นเอกสิทธิ์” เฉพาะพรรคพวกที่ไว้ใจเท่านั้น ที่จะให้คุมกำลังรถรบเหล่านี้ ผู้บังคับกองพัน ขณะนั้นคือ พันตรีทวน วิชัยขัทคะ อดีตนายร้อยเอกทหารม้า ผู้ก่อการคนหนึ่ง ผู้ร่วมขบวนไปจับกรมพระนครสวรรค์วรพินิต …

ทวน วิชัยลักขณา (วิชัยขัทคะ)

เมื่อได้รับคำชักชวนให้ร่วมกบฎ ทหารรถถังก็ทำเป็นเออออห่อหมก …
      แต่พอได้กำหนด  วันที่พวกนั้นจะกระทำการในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๗๘ แล้ว …ก็ไปกระซิบผู้บังคับบัญชา ไม่นานกี่อึดใจ หลวงพิบูลฯ  ก็ได้รับรายงาน แล้วท่านก็มองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยมั่นใจว่า  “พระยาทรงสุรเดช” ต้องอยู่เบื้องหลังอีกแน่นอน !!! จึงประเมินขีดความสามารถของกบฏไว้สูงมาก ขนาดเกรงว่า  จะมีทหารเรือหนุนหลังด้วย จากการที่ไม่พอใจเรื่องเอาผู้บัญชาการของเขาไปอยู่บางขวาง ในข้อหากบฏ จึงเรียกประชุมนายทหารระดับแกนนำทันที แล้วออกคำสั่งในฐานะรองผบ.ทบ. ให้ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒ และ ๓ ชิงลงมือจับนายสิบที่ต้องสงสัยในกองพันของตนให้ได้ ในวันที่ ๓ สิงหาคม เวลา ๑๒.๐๐ น.         นายพันตรีหลวงประหารริปูราบ   ผู้บังคับการกองพันทหารราบที ๒ เมื่อได้รับคำสั่งลับที่สุด ด่วนมาก จาก รอง ผบ.ทบ.แล้ว ก็เรียกประชุมนายทหารเป็นการด่วน สั่งนายทหารทุกคน เตรียมรับมือ เพราะแผนของกลุ่มนายสิบกำหนดไว้ว่าจะจับนายทหารทุกคน …หากขัดขืน ก็จะใช้ความรุนแรงถึงขั้นยิงทิ้ง ไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม
นายทหารชั้นประทวน ถูกจับได้ทั้งหมด   ในคราวนี้มี สิบเอกถม เกตุอำไพ , สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม , สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ , สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ , สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง ขาดแต่สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ ที่ออกไปทำธุระนอกหน่วย กับสิบเอกกวย สินธุวงศ์ ที่ลาบวชหน้าศพยาย ที่เมืองนนท์ไปก่อนหน้านั้น

ทั้งหมดถูกส่งตัวเข้าที่คุมขังบริเวณชั้น ๓ ของกระทรวงกลาโหม ตกบ่าย กลุ่มที่ถูกจับจากกองพันทหารราบที่ ๓ ก็ถูกส่งตัวมาถึงบ้าง มีจ่านายสิบสาคร ภูมิทัต , สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด ส่วนกองพันทหารราบที่ ๑ ก็จับ จ่านายสิบสวัสดิ์ ภักดี และสิบเอกสวัสดิ์ ดิษยบุตร มาเพิ่มเติม สองคนหลังนี่ถือว่าเป็นแพะ เพียงเพราะมีสายลับรายงานว่าไม่น่าไว้ใจ ทำให้เข้าปิ้งไปด้วยโดยรู้อีโหน่อีเหน่อะไรเลย สุดท้ายที่ถูกจับเพิ่มอีก คือ สิบโทสาสน์ คชกุล , สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ และสิบเอกแช่ม บัวปลื้ม รวมทั้งสามเณร สิบเอกกวย สินธุวงศ์ ที่ไปบวชหน้าศพยาย ก็ถูกลากมาจากวัดเข้าคุกทั้งๆที่ยังครองผ้าเหลืองอยู่ เลยต้องปลดผ้าเหลืองสึกตัวเองในห้องขัง ….

ความระส่ำระสายเกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ถูกจับกุมทุกคนที่พักอาศัยอยู่ในเขตทหาร

      เพราะมีคำสั่งให้ย้ายออกไปในทันที ถึงไม่รู้ว่าจะไปไหนก็ต้องไป คนที่พลอยโดนหางเลขไปด้วยคือ ร้อยตรีวิสัย เกษจินดา ผู้เห็นใจความยากลำบากของครอบครัวอดีตลูกน้อง ที่ต้องขนย้ายข้าวของกันทุลักทุเล เลยสั่งให้ลูกน้องของตนไปช่วยขนด้วยจิตเมตตา ทำให้เขาถูกเพ่งเล็งจากผู้บังคับบัญชาว่า เกี่ยวพันกับกบฏกลุ่มนี้ สุดท้ายก็ถูกจัดเต็ม ให้ในคดีกบฏพระยาทรง โดยเป็น ๑ ใน ๑๘ คนที่ถูกประหารชีวิตด้วย !!!

การจับกุมกวาดล้างยังดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง

       สนุกมือพวกสายลับมาก มีผู้ถูกจับเพิ่มขึ้นอีก คือ สิบโทเลียบ คหินทพงษ์ , สิบโทชื้น ชะเอมพันธ์ , สิบโทปลอด พุ่มวัน, จ่านายสิบแฉ่ง ฉลาดรบ , จ่านายสิบริ้ว รัตนกุล, สิบโทเหมือน พงษ์เผือก , พลทหารจินดา พันธุ์เอี่ยม , สิบเอกเกิด สีเขียว และพลทหารฮก เซ่ง และพลเรือนคนเดียวของกลุ่ม คือ นายนุ่น ณ พัทลุง ที่เคยเป็นนายสถานีรถไฟ ในคราวกบฏบวรเดช ที่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทหารโคราชทางรถไฟ ….

      รัฐบาล รีบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมา เพื่อพิจารณาคดี และเพื่อไม่ให้มีปัญหาเช่นครั้งก่อน ที่คราวนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  มิทรงยอมลงพระปรมาภิไภย …  จึงให้เพิ่มมาตรา ๕ ขึ้นจาก พ.ร.บ. ศาลพิเศษ ๒๔๗๖ ระบุว่า  “ในการที่จะลงอาญาประหารชีวิต แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ถ้าผู้ต้องคำพิพากษานั้น จะทูลเกล้าถวายฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ให้ยื่นฎีกาภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับตั้งแต่ศาลอ่านคำพิพากษา และถ้าพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยลงมาภายในกำหนด ๔๘ ชั่วโมง นับจากเวลาที่ทรงรับฎีกานั้น ให้ถือว่า ไม่พระราชทานอภัยโทษ … ท่านให้เอาตัวผู้ต้องคำพิพากษานั้นไปประหารชีวิต โดยมิชักช้า”  …..  ร่างเสร็จก็นำเรื่องเข้าสภาให้ส.ส.ลงมติผ่านโดยเร็ว … !!!

…. ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนผู้ต้องหา นอกจากคำถามปกติทั่วไปแล้ว… ยังจัดคำถามพิเศษเพิ่ม อีกประโยคหนึ่งคือ …

“พระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้าใช่ไหม”

อันนี้มีเงื่อนไขว่า ใครตอบว่า “ใช่” ก็จะถูกกันให้เป็นพยานทันที …. แปลว่า “รอดจากคุกไปได้”   แต่เมื่อความจริงมันไม่ใช่ … ก็เลยไม่มีใครกล่าวซัดทอดท่านเลย แม้แต่คนเดียว ….  นับว่านายสิบพวกนี้เป็นทหารยศเล็กแต่ใจใหญ่จริงๆ แม้แต่ภายหลังได้การอภัยโทษออกมาแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครกลับคำกล่าวอ้างว่ามีนายทหารคนไหนอยู่เบื้องหลังเลย …

เพียง ๙ วัน อัยการก็ทำสำนวนเสร็จ

      ส่งผู้ต้องหาทั้งหมดฟ้องศาลทันที โดยมีหลักฐานอย่างเดียวคือ “คำบอกเล่าของพยานโจทก์” คือ นายสิบรถรบ ที่ถูกกันไว้เป็นพยานนั่นเอง ไม่มีปรากฏหลักฐานเอกสาร ไม่มีหลักฐานการกระทำอย่างอื่นทั้งสิ้น !!!

วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๗๘

     เป็นวันไต่สวน ที่อัยการกล่าวข้อหาไล่กันรายตัว… โดยไม่ให้มีทนาย !!!

    จำเลยเกือบทั้งหมด จึงยอมรับสารภาพ เพราะเชื่อว่า  คงติดคุกไม่เกิน ๑๐ ปีเท่านั้น ขืนไม่ยอมรับสารภาพ โทษก็จะหนักกว่านี้  แต่มีรายเดียวที่ยืนกรานปฏิเสธ คือ  สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด เพราะในข้อกล่าวหาระบุว่า  “กบฏกลุ่มนี้ปรึกษาหารือ และวางแผนกันในร้านเหล้าในกองพัน”  สิบเอกสวัสดิ์ เป็นมุสลิม ในเมื่อตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่อนุญาตให้กินเหล้า เขาจึงเชื่อว่า  คำปฏิเสธของเขาจะมีน้ำหนัก และจะรอดจากข้อกล่าวหาไปได้ เพราะคำปรักปรำนั้น ขัดกับข้อเท็จจริง …

สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด  หารู้ไม่ว่า นั่นคือความคิดที่ผิดอย่างมหันต์

    เพราะ ในเมื่อเขาเป็นจำเลยรายเดียว ที่ไม่รับสารภาพ ศาลพิเศษซึ่งตัดสินคดีในวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๘ จึงได้พิพากษาให้ประหารชีวิต !!!   และให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลย ๘ คนคือ สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ , สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ , สิบเอกถม เกตุอำไพ , สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม , สิบเอกกวย สินธุวงศ์ , สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง , สิบโทสาสน์ คชกุล , จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต จำคุก ๒๐ ปี ๓ คน คือ สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม , สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ , สิบโทเลียบ คหินทพงษ์ จำคุก ๑๖ ปี คนเดียว คือ นายนุ่ม ณ พัทลุง ส่วนคนอื่นๆ นั้นยกฟ้องพ้นข้อหา

ฝ่ายจำเลย ไม่มีใครคิดว่า  จะได้รับการลงโทษหนักถึงขนาดนั้น เพราะจะว่าไป ก็ยังไม่มีการกระทำใดๆ เกิดขึ้นเลย แต่ศาลพิเศษ ไม่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ฏีกา ตัดสินแล้ว ก็จบสิ้นขบวนการ นักโทษทั้งหมด ถูกส่งไปคุกบางขวาง ซึ่งเป็นคุกมหันตโทษสำหรับนักโทษเด็ดขาด ….

    เมื่อเข้าไป ก็ต้องถูกตีตรวนทันที สวัสดิ์ ที่โดนคำสั่งประหาร ถูกตีตรวนถึงขนาด 8 หุน  แถมต้องถูกส่งตัวไปอยู่แดน ๑ ซึ่งเป็นแดนสำหรับนักโทษชั้นเลว ติดคุกด้วยข้อหาฉกรรจ์ทั้งนั้น …

    พวกนายสิบที่โดนจำคุกตลอดชีวิต  ได้เจอนักโทษขังเดี่ยวคนหนึ่ง นั่งซึมอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว คำแรกที่นักโทษผู้นี้ทักทายกลุ่มกบฏก็คือ “ทนเอาหน่อยน้องชาย ฉันก็ต้องตายที่นี่เหมือนกัน ฉัน พระยาธรณีนฤเบศร์”

นายสิบผู้คิดกบฏ
บริเวณเสาธง ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปากน้ำสมุทรปราการ คือแดนประหารนายสิบ ผู้ต้องหาคดีกบฏ


สิบวันต่อมา
สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ถูกคุมตัวลงเรือไปไกลถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า สมุทรปราการ ซึ่งพื้นที่ของกองทัพเรือ …. ไม่มีใครรู้ว่า รัฐบาลต้องการสื่ออะไร ?  ให้ทหารเรือได้รับรู้รับเห็น หรือเปล่า …. จึงได้นำนักโทษในคดีกบฏไปประหารชีวิตที่นั่น ..คล้ายกับว่าต้องการ  “เชือดไก่ให้ลิงดู”  นักโทษการเมืองคนแรกที่ได้รับการลงโทษประหารชีวิต ด้วยกำหนดวิธีใหม่ คือ การยิงเป้า

บทความชั้นหลัง ที่แพร่ๆกัน เมื่อกล่าวถึง  กบฏนายสิบ ทีไร จะมักจะเขียนตามๆกันว่า  สิบเอกสวัสดิ์เป็นหัวหน้ากบฏ เพราะเป็นคนเดียว ที่ถูกประหารชีวิต แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เขาตายเพราะไม่ยอมรับสารภาพ ว่าเขาประพฤติในสิ่งที่ขัดกับหลักปฏิบัติในศาสนาของเขาเท่านั้น หลังประหารแล้ว ทางการก็นำศพของเขาใส่เรือกลับมาให้ญาติจัดการฝังตามประเพณี ….

สองคน  ในกบฏนายสิบคือ สิบโท ม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ และสิบโทสาสน์ คชกุล เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกส่งไปคุมขังที่เกาะตะรุเตา แล้วต่อมาถูกย้ายไปเกาะเต่า ซึ่งสิบโทสาส์นเสียชีวิตที่เกาะเต่า นี้เอง ส่วน ม.ล. ทวีวงศ์ รอดชีวิตกลับมาได้ …

ยิ่งหนี ยิ่งเป็นที่ต้องสงสัย…

   เมื่อไม่มีจำเลยคดีกบฎนายสิบ ผู้ใดที่ซัดทอดท่าน ในปลายปีเดียวกันนั้นเอง พระยาทรงฯ ก็ขออนุญาตพระยาพหลฯ หนีเรื่องวุ่นวายทางการเมือง ไปประเทศจีน กับพรรคพวกอีกสองสามคน เพื่อดูงาน    อีกหลายเดือน  ครั้นกลับมาแล้ว พระยาทรงฯ  ทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการ ได้ประจำกองบังคับการกรมเสนาธิการทหารบก แล้วเสนอโครงการก่อตั้ง  โรงเรียนรบชั้นสูง สำหรับนายทหาร แบบ Kriegschule ของเยอรมัน สภากลาโหม เห็นชอบอนุมัติ ให้จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่  ในค่ายกาวิละปัจจุบัน …

    โรงเรียนแบบนี้ สำหรับฝึกพื้นฐานนายทหาร ที่คัดจากหน่วยกำลังรบชั้นยศไม่เกินร้อยเอก หลักสูตร ๒ ปี มุ่งหมาย ให้มีความรู้อย่างดีในพื้นฐานของการบังคับบัญชา ทั้งด้านยุทธการและยุทธวิธีในสนามโดยใช้ภูมิประเทศจริง ให้คุ้นสภาวะแวดล้อมทุกรูปแบบ นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบนี้ จะไม่ใช้คำว่านักเรียน …

พระยาทรงฯ ได้คัดเลือกนายทหารระดับหัวกะทิ ทั้งหมด ๒๙ นาย ขึ้นไปเรียน แต่หลวงพิบูล ก็มิได้ไว้ใจ ก็ส่งคนของตน ขึ้นไปสอดแนมดูความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ว่ากำลังซ่องสุมผู้คน จะก่อการใหญ่หรือเปล่า ? ก็ยังไม่พบสิ่งที่ผิดปกติ แต่แล้วคนในสภาฯ ก็เอาเรื่องคอขาดบาทตายมาโยนให้ท่านจนได้ ..

หลังจาก รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒ ประเภท

  • ประเภท ๑ ประชาชนเป็นผู้เลือก
  • ประเภท ๒ จำนวนเท่ากัน คือ พวกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้น เวลานั้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้คณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในคาถาของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทนี้ จึงเป็นฝ่ายที่รัฐบาลเป็นผู้เลือกให้ไปยกมือสนับสนุนตนทั้งสิ้น แต่ก็มุ้งใครมุ้งมันเหมือนกัน..

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๑   ที่มาจากการเลือกตั้งกลุ่มหนึ่ง มีร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร ผู้ที่ปากกล้าเสียงดังฟังชัดที่สุด ตอนเป็นทหารบังอาจเขียนวิจารณ์หลวงพิบูลฯ ในเรื่องการจัดซื้ออาวุธครั้งมโหฬารงานช้าง เลยถูกดาบปลายปืนจี้ไปสหบาทา ต่อด้วย จำขังไว้ในตะรางของกระทรวงกลาโหมเสียยี่สิบกว่าวัน ถูกปล่อยออกมาแล้วลาป่วยไม่ไปทำงาน กองทัพบก เลยถือโอกาสปลดออก ต้องประกอบอาชีพใหม่เป็น บ.ก.หนังสือพิมพ์รายวัน “ชุมชน”   มีฐานเสียงเข้าสภาได้ ก็ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลผู้ใด  แถมยังออกโรงเชียร์พระยาทรงฯ  แบบโต้งๆ ว่า เป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุดเสียด้วย….

รัฐบาลงุบงิบ เอาที่ดินของพระคลังข้างที่ บนถนนราชวิถี ฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังสวนจิตรลดา ออกมาแบ่งแปลงขายให้แก่พวกเดียวกันเอง
พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) นายกรัฐมนตรีหนุ่มที่สุดของสยามยุคประชาธิปไตย

เรื่องสำคัญ ที่ฝ่ายค้านถลกออกมาเปิดเผยก็คือ   รัฐบาลงุบงิบ เอาที่ดินของพระคลังข้างที่ บนถนนราชวิถี ฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังสวนจิตรลดา ออกมาแบ่งแปลงขายให้แก่พวกเดียวกันเอง ในราคาถูกแสนถูก !!! แถมยังจัดให้ผ่อนอีกต่างหาก แต่ตัวนายกฯ กลับไม่ทราบเรื่องเลย   ณ เณร จึงหาว่า  ท่านโง่ จูงควายเอาไปผูกไว้หน้าวังปารุสก์ ที่พำนักของท่านอีกต่างหาก สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ ให้กับพระยาพหลฯ และความแค้นเคืองแก่หลวงพิบูลฯ เป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านจองกับเขาไว้ถึงสองแปลง …. 

พอฝ่ายค้านชักจะแรง หลวงพิบูลฯ ก็จำต้อง “คาย”  ที่ดินแปลงงามที่จองไว้  คืนไป ….แต่อีกหลายคน ที่ซื้อแล้วโอนแล้ว ก็เลยตามเลย ….

“บ้านใหญ่ๆ แถวนั้นที่ติดชื่อเจ้าของอยู่ในทุกวันนี้   ก็ยังเห็นนามสกุลที่สืบจากอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรหลายหลัง”

…  ญัตติของฝ่ายค้านเรื่องนี้ แม้รัฐบาลจะได้รับคะแนนความไว้วางใจผ่าน แต่ก็ทุลักทุเล เพราะ ส.ส.ในมุ้งของหลวงพิบูลเล่นกลการเมือง ไม่ยกมือมันซะเฉยๆ ทำให้พระยาพหลประกาศลาออก เพราะรู้อนาคต ขืนอยู่ต่อไปคงมีแต่จะเปลืองตัวมากกว่านี้

    สภาจึงได้จัดให้มีการประชุมลับ เฉพาะผู้แทนราษฎรประเภท ๑ เพื่อหยั่งเสียงว่า จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีผู้เสนอชื่อพระยาทรงฯ คู่กับหลวงพิบูล ปรากฎว่า คะแนนพระยาทรงชนะขาด ถึง ๓๗ ต่อ ๕

วันรุ่งขึ้น น.ส.พ.ชุมชน ตีภาพพระยาทรงฯ กับหลวงพิบูลฯ  ขึ้นหน้าหนึ่งคู่กัน โดยพาดหัวว่า สภาลงคะแนนลับให้พระยาทรง ๓๗ คะแนน หลวงพิบูล ๕แต้ม !!!

ไม่ต้องสงสัยว่า เรื่องนี้จะสร้าง “รอยแค้น” ในหัวใจให้แก่หลวงพิบูลฯ อย่างสาหัสเพียงไร.. ?

ดังนั้น นอกจาก ณ เณร จะถูกเอาปูนกาหัวแล้ว… แน่นอนพระยาทรงฯ จะต้องถูกสงสัยว่า “กำลังมีความพยายามที่จะแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่อยู่แค่เอื้อมของตน ….”

เริ่มภูตปกรณัม

ขณะที่การเมืองเริ่มทวีความวุ่นวาย ในเรื่องนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็มีข่าวพาดหัวว่า  หลวงพิบูลฯ ถูกคนสวนในบ้าน บุกขึ้นไปยิงถึงห้องนอน แต่กระสุนพลาดเป้า ทำให้รอดไปได้ !!!

  เรื่องนี้มีอยู่ว่า  นายลี บุญตา ชาวอิสาน ผู้เป็นลูกจ้างทำสวน ในบ้านพักนายทหารของหลวงพิบูลมา ๗ ปีแล้ว ได้เงินเดือนแต่แรก ๖ บาท จนสุดท้ายได้ ๒๕ บาท แล้วใช้ให้ขับรถส่งเด็กๆไปโรงเรียนด้วย  …. หลังถูกจับ นายลีให้การกับตำรวจว่า หลวงพิบูลเป็นคนใจดี ไม่เคยดุด่าว่าตนเลย เย็นวันที่เกิดเหตุนั้น พันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต พลขับรถของรัฐมนตรีกลาโหม เอาปืนพกมาวางในรถ เตรียมจะไปงานเลี้ยง ที่กระทรวง ตนกินเหล้าเมา ผ่านมาเห็นเข้า ก็แอบหยิบขึ้นไป จะยิงหลวงพิบูล พบว่ากำลังแต่งตัวอยู่ในห้อง ก็จู่โจมเข้าไปยิง แต่กระสุนพลาด ถูกพื้นทะลุลงมาห้องรับแขก ….

นักวิจารณ์ค่อนขอดว่า หลวงพิบูลคงนั่งยองๆ ผูกหูกระต่ายอยู่กระมัง นายลี จึงได้เล็งลงต่ำถึงขนาดนั้น ?

พอถูกยิงนัดแรก หลวงพิบูลฯ ก็ร้องตะโกนว่า ” ตาลียิง …. !!! “

ร้อยตรีผล สมงาม นายทหารติดตาม จึงรีบวิ่งขึ้นบันไดไป พอถึงชั้นบน ก็ได้ยินเสียงปืนอีก ๑ นัด ….  เห็นหลวงพิบูลวิ่งออกมาจากห้อง โดยนายลี บุญตาวิ่งไล่หลัง หลวงพิบูลเห็นคนมาช่วย ก็ร้องอีกทีว่า ตาลียิง    ร้อยตรีผล  จึงผลักหลวงพิบูลฯ เข้าไปในอีกห้องหนึ่ง แล้วโดดเข้าปัดปืนในมือของนายลี  ที่กำลังยกปืนขึ้นจะยิงซ้ำ พร้อมกับชกนายลีล้มลง ก่อนจะเข้าปล้ำแย่งปืน

ประชาสัมพันธ์

 


GQ กางเกงชิโน ผ้ายืด สีแดง ใส่สบาย น้ำหนักเบา สะท้อนน้ำ เหมาะกับอากาศร้อน สบายจริงๆ สบายจัดๆ
GQ กางเกงชิโน >> คลิ๊ก



 

นายทหารอีกสามคน ที่อยู่ในบ้านก็วิ่งขึ้นบันไดมาถึงพอดี แล้วช่วยกันจับล๊อกคอไว้ หนึ่งในนั้นคือ  นายร้อยเอกเผ่า ศรียานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ( ตัวละครใหญ่บนเวทีการเมืองไทยอีกคนหนึ่งในฉากหลังๆ  ก่อนที่หลวงพิบูลจะโดนหอกข้างแคร่ ทิ่มหงายท้องเข้าโรงไป )   งานนี้นายลี คงโดนรุมยำไปบ้างให้ดูสมจริง ก่อนที่จะถูกจับไปโรงพัก ….

หลังถูกนายลียิง หลวงพิบูล และศรีภรรยา ก็รีบแต่งตัวต่อ 
เพื่อไปงานราตรีสโมสร ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น  !!?? 

      ลูกน้อง สมุน บริวาร จะมารู้ข่าวก็ตอนที่  หนังสือพิมพ์พาดหัวในวันรุ่งขึ้นแล้ว ต่างพากันสรรเสริญ บุญของนาย อย่างอึงมี่ ที่แคล้วคลาด และชมชื่นในความกล้าหาญ ที่ไม่ออกอาการให้เป็นที่ผิดสังเกตุเลย ทั้งๆ  ที่ผ่านเหตุการณ์คอขาดบาดตายมาหยกๆ

นายสิบผู้คิดกบฏ
พระยาศรีสิทธิสงคราม (หน้าซ้าย) และพระยาทรงสุรเดช (คนถัดไป) ขณะดูงานทางด้านการทหารในยุโรปก่อนหน้าจะเกิดเรืองกบฏ

บทความ |เรียบเรียง
โดย  :  ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน


โปรดติดตามตอนต่อไป :   ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article