“หนึ่งมื้อ กินเจ หมื่นชีวิตรอดตาย” …. เป็นคำพูดที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในทุก เทศกาล กินเจ ทุกปี ค่ะ
…แต่ คุณทราบกันหรือไม่คะ ว่า ? คำพูดนี้ไม่ใช่เป็นคำบรรยาย หรือสโลแกนเท่ๆ ที่สะท้อนถึงเทศกาลกินเจ เท่านั้น แต่เป็นปรัชญาของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่บัญญัติคำพูดนี้ขึ้นมา อีกทั้ง ยังเป็น ปริศนากลอนคู่ ของชาวจีน อีกด้วย ความหมายก็ตรงตัว นั่นคือ
“การละเว้นการทานเนื้อสัตว์เพียงมื้อเดียว ก็สามารถช่วยให้ ทั้งคนและสัตว์รอดตายได้นับหมื่น”
แต่เอ๊ะ! สัตว์รอดตาย พอเข้าใจ แต่ คนรอดตาย นี่อย่างไงกันนะ ?
เพราะเรา กินเจ คือ การละเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ ทำให้สัตว์ไม่ถูกฆ่ามาเป็นอาหารให้แก่เรา ? คำตอบคือ เราจะรอดตายในระยะยาว กล่าวคือ …. เราจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น เพราะคนจีนนั้น มีความเชื่อในเรื่อง “ต้นทุนสุขภาพที่ดี” ว่า การละเว้นการทานเนื้อสัตว์ ๑ มื้อ ช่วยให้เรารอดพ้นจาก การรับสารพิษที่มาจากเนื้อสัตว์ ได้นั่นเอง และหากเรากินเจแค่ ๑ มื้อ ตลอดอายุขัยของเรา ก็ยังมีส่วนช่วย “ปลดปล่อยชีวิตสัตว์” ให้รอดพ้นความตายได้นับหมื่นนับแสนตัว ตลอดอายุขัยของเราอีกด้วย ส่งผลให้มีสุขภาพดีทั้งกายและทั้งใจ
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการละเว้นการทานเนื้อสัตว์ได้น่าสนใจว่า…
“การไม่รับประทานเนื้อสัตว์ เป็นการกระทำ เพื่อยึดเอาประโยชน์ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม เป็นการก้าวหน้าของสัมมาปฏิบัติอันหนึ่ง ซึ่งได้ผลอานิสงส์มาก แต่ว่าการลงทุนทางฝ่ายวัตถุน้อยที่สุด แต่ได้ผลมากอยู่ที่ใจ”
หรือ ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ แบบเข้าใจกันง่ายๆ ตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยกล่าวไว้อีกข้อก็คือ …
“คนกินเนื้อเพราะแพ้รสตัณหา กินเพราะตัณหาไม่ใช่เพื่อให้เลี้ยงง่าย”
เรื่องราวที่เกี่ยวกับ ประเพณีการถือศีลกินเจ ก็ยังมีหลายท่านถกเถียงกันว่า เทศกาลนี้มีแค่ในประเทศไทย และมีเฉพาะแค่คนไทยที่กินเจเท่านั้นหรือไม่ ? เพราะมีข้อมูลออกมาว่า ในประเทศจีน ไม่เห็นมีใครกินเจกันเลย ??!! เพื่อนผู้เขียนที่เป็นชาวจีน ก็เคยงงๆ กับเทศกาลกินเจในประเทศไทย เพราะเขาไม่เคยรับรู้มาก่อน .. ในประเทศเขา (ประเทศจีน) ไม่มีประเพณีนี้ และเพื่อนของผู้เขียนยังไม่รู้จักอีกด้วย …แต่นั่น ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด
สิ่งที่ผู้เขียนจะบอกเล่าต่อจากนี้ อาจจะเปิดมุมมองใหม่
ถึงที่มาของ การกินเจ
โดยพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ใครคือคนต้นคิด การกินเจ”
…. หลายคนก็ยังมั่นใจว่า ก็ต้องเป็นคนจีนแน่ๆ ที่เป็นผู้คิดค้นและริเริ่มประเพณีกินเจ ขึ้นมา
… เป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ทั้งหมดเสียทีเดียวนะคะ …
ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก แม้กระทั่งวัฒนธรรม และภาษา ยังมีความแตกต่างกันไป ในแต่ท้องถิ่น แตกแขนงออกไปอีกมากมาย …. การกินเจของชาวจีน ในประเทศจีนอาจเกิดขึ้นเพียง “บางพื้นที่เล็กๆ เท่านั้น” ที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่เราไม่สามารถอ้างได้ว่า เทศกาลกินเจ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน …
แต่ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของการกินเจ หรือระดับมารดาผู้ตั้งลัทธิก็คือ.. ประเทศอิหร่าน ???…
ใช่ค่ะ …. ประเทศอิหร่าน… ผู้เขียนไม่ได้เขียนผิด หรือท่านผู้อ่าน ก็ไม่ได้อ่านผิด หรือตาฝาด แต่อย่างใด …
มาถึงตรงนี้ ต้องมีหลายคนงงเป็นไก่ตาแตก แน่นอน …
เทศกาลกินเจ กับ อิหร่าน…. พิจารณา ดูแล้ว สองสิ่งนี้ ไม่น่าจะมีอะไรเชื่อมโยงกันได้เลย สักนิดเดียว คิดเหมือนกันมั้ยคะ ? ในอิหร่าน หรือ พื้นที่เปอร์เซียในสมัยโบราณนั้น เดิมที มีศาสนาเก่าแก่ศาสนาหนึ่งค่ะ มีชื่อว่า “ศาสนามณี” และ ศาสนามณี นี่แหละค่ะ คือ ผู้ก่อต้องลัทธิการกินเจ ขึ้น …
เมื่อเอ่ยชื่อ “ศาสนามณี” ก็อาจจะมีคนที่รู้จัก หรือมีคนไม่รู้จัก หรือแทบไม่เคยได้ยินชื่อศาสนานี้มาก่อน
ศาสนามณี เป็นศาสนาที่เก่าแก่ มีมาแต่โบราณ โดยต้นกำเนิดอยู่ในดินแดนแถบเปอร์เซีย หรือที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันคือ ประเทศอิหร่าน คำสอนของศาสนามณี เชื่อในเรื่องความดี ความชั่ว โดยมีองค์ศาสดานามว่า องค์อสุรมัสดา ที่ถือกำเนิดมา เพื่อเป็นพลังด้านดีในการสร้างให้โลกน่าอยู่ และมีชัยเหนือโลกในด้านมืด หรือด้านความชั่ว ศาสนามณี จึงสอนให้ศาสนิกชนมีความศรัทธาในความดี และแสงสว่าง ยึดมั่นในหลักธรรมคล้ายกับศีล ๕ ในศาสนาพุทธ แต่จะมีข้อห้าม คือ ไม่ให้กราบรูปเคารพใดๆ และมีกิจกรรมการสวดมนต์ภาวนาอยู่เป็นนิจ โดยมีข้อกำหนดว่า ต้องสวมเสื้อ/ชุดสีขาว ( เพราะสีขาวคือสัญลักษณ์ของความดี ความสว่างบริสุทธิ์ ) เช่นเดียวกับผู้ที่ถือศีลกินเจในปัจจุบัน ซึ่งศาลเจ้าส่วนใหญ่จะอนุญาตให้เฉพาะผู้ถือศีล และสวมขุดขาวเข้าร่วมพิธีในบางพื้นที่ของศาลเจ้าเท่านั้นค่ะ …
ศาสนามณีรุ่งเรืองที่สุด เมื่อครั้งที่อินเดียรับอิทธิพลนี้ไปค่ะ และมีศาสดานามว่า “องค์มณี”ซึ่งเป็นที่มาของชื่อศาสนานั่นเอง ต่อมาก็ได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศจีน ในยุคสมัยราชวงศ์ถัง ( ตรงกับยุคของพระนางบูเช็กเทียน )โดยทำหน้าที่เป็นราชครูผู้ประกอบพิธีกรรมสำคัญในราชสำนัก …
จนกระทั่ง ถึงรัชสมัยพระเจ้าถังอู่จง ซึ่งพระองค์มีความศรัทธาในลัทธิเต๋า เป็นอย่างมาก ไม่ทรงโปรดในข้อห้าม เรื่องการไม่ให้ความเคารพต่อรูปปั้นเคารพต่างๆ ศาสนามณี จึงถึงกาลล่มสลาย แต่คำสอนและหลักธรรมยังคงอยู่ และต่อมาก็ได้มีการถือกำเนิดลัทธิใหม่ ที่ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของศาสนามณี มาถึงตรงนี้ขอเบรคนิดนึงก่อนจะเดินเรื่องต่อนะคะ …
“ลัทธิเม้งก่า” หรือ “ม้อก่า”
ถ้าคุณผู้อ่านเป็นแฟนละครซีรีส์สุดฮอต อย่างเรื่อง มังกรหยก ต้องได้ยิน และคุ้นกับชื่อ “ลัทธิเม้งก่า” หรือ “ม้อก่า” ลัทธิมาร ที่ปรากฎอยู่ในวรรณกรรมอมตะ มังกรหยก ลัทธิเม้งก่า หรือม้อก่า นี่แหละค่ะ ที่เป็น ผู้สืบทอดหลักธรรมคำสอน ของศาสนามณี ในเวลาต่อมา แต่…. มีจุดประสงค์ใหญ่ข้อหนึ่งที่เป็นหลักการของลัทธิเลย นั่นก็คือ “การต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของภาครัฐ” หรือจะให้พูดกันตรงๆ คือ “ต่อต้านบรรดาข้าราชบริพาร ข้าราชสำนักที่คดโกงและใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม” นั่นเอง …
ลัทธิเม้งก่า จึงถูกทางการปราบปรามอย่างหนัก ทุกอย่างจึงต้องกระทำการอย่างลับๆ สืบราชการลับ , วางแผนอย่างลับๆ เป็นไม้เบื่อไม้เมา กับทางราชการเป็นอย่างมาก…. จนในรัชสมัยราชวงศ์ซ่ง ยุคที่มีบุคคลสำคัญอย่างท่านเปาบุ้นจิ้น เป็นผู้ผดุงความยุติธรรม ให้ตั้งแต่ชาวประชารากหญ้าจนถึงสมาชิกในราชสำนักชั้นสูง ทางราชการในยุคนี้ ถึงกับตั้งสโลแกนให้กับ ลัทธิเม้งก่า ว่า “พวกกินผัก ภักดีมาร”!!
อ่านมาถึงตรงนี้ สายกินเจไม่ต้องสะดุ้งนะคะ ผู้เขียนก็กินเจเช่นเดียวกัน ขอยืนยันว่าเราถือศีลกินผักแต่เราภักดีต่อความดีงามที่ได้กระทำค่ะ 😉
กลับมาต่อกันที่ ลัทธิเม้งก่า ค่ะ …
ถึงจะถูกทางราชการ ตราหน้าว่า ทำแต่เรื่องไม่ดี ภักดีมาร อยู่เป็นนิจ แต่ลัทธิเม้งก่า ก็สามารถกลับมาอยู่ในจุดที่เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ในสมัยราชวงศ์หยวน เพราะเป็นกำลังสำคัญในการโค่นล้มราชวงศ์หยวน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการถึงจุดสิ้นสุดของลัทธิเม้งก่า ไปพร้อมกันด้วย …. เนื่องจาก ผู้นำการโค่นล้มราชวงศ์หยวนอย่าง “จูหยวนจาง” เกรงกลัวถึงภัยของ ลัทธิเม้งก่า เมื่อจูหยวนจางสถาปนาตน ขึ้นเป็นองค์จักรพรรดิ มีพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิหงอู่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง จึงได้สั่งการกำจัดบรรดาผู้นำของลัทธิเม้งก่าอย่างสิ้นซาก ลัทธิเม้งก่า จึงสูญสลายหายไปพร้อมการล่มสลายของราชวงศ์หยวน …
อ่านมาถึงตรงนี้ และผ่านมาตั้งหลายวรรคตอนแล้ว …. ก็คงต้องมีผู้อ่านสงสัย ว่า
“.. ลัทธิเม้งก่าได้สูญสลายหายไปแล้ว แต่เหตุใด เทศกาลกินเจ ยังส่งผลถึงการมีอยู่ของเทศกาลกินเจ จนถึงในยุคปัจจุบันได้ ??? …”
คำตอบ คือ เพราะแม้ว่าลัทธิเม้งก่า จะตายไปจากแผ่นดินมังกร แต่คำสอนหลักธรรมของศาสนามณี ที่ ลัทธิเม้งก่าได้ยึดมั่นนั้น ยังมีผู้สืบทอด ซึ่งต่อมาก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นลัทธิใหม่ ที่มีชื่อว่า ลัทธิเมฆขาว และ ลัทธิบัวขาว ทั้งสองลัทธิ มีการผนวกเอาหลักคิดของลัทธิเต๋า หลักพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และศาสนามณี เข้าด้วยกัน นับถือและเชื่อว่า “พระศรีอริยเมตไตรย” จะกลับมาเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต และนี่เอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ลงตัว ของการก่อให้เกิด ลัทธิการกินเจ หรือประเพณีถือศีลกินเจ และดึงเอาหลักคำสอนแบบเต๋าเข้ามาใช้ คือ
“การดำรงอยู่กับธรรมชาติ บำเพ็ญแต่คุณความดี
ถ่อมตนอยู่เสมอ ทำจิตใจให้สงบ ไม่เบียดเบียน…”
โดยมีพิธีกรรมที่สำคัญ คือ การบริโภคอาหาร ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีพิธีส่งวิญญาณผู้ตาย , พิธีปราบผีร้าย ,พิธีกราบไหว้บูชาวิญญาณบรรพบุรุษ …
และนี่เอง คือเหตุผลหนึ่งที่ถือกำเนิดเกิดขึ้นของ “โรงเจ” หรือ โรงทานต่างๆ โดยเฉพาะชาวจีน ที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่สู่แผ่นดินสยามประเทศ ในอดีต ก็ได้นำวิถีความคิด และความเชื่อของลัทธิฯ มาด้วย ทำให้เกิดประเพณี ถือศีลกินเจในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย จากอดีตถึงในปัจจุบัน ..
จังหวัดภูเก็ต มีเทศกาลกินเจ ที่โด่งดังไปทั่วโลก
ประเพณีถือศีลกินเจ ในประเทศไทย ที่โด่งดังในระดับโลก และเป็นที่รู้จักของบรรดานักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่อยากเข้ามาเที่ยวในช่วงเทศกาลนี้ คงหนีไม่พ้นจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นต้นทางของประเพณีถือศีลกินเจ ในประเทศไทย ซึ่งหลายท่านน่าจะทราบกันอยู่บ้างแล้วว่า ประเพณีถือศีลกินเจที่ภูเก็ต เริ่มที่ อำเภอกะทู้ ซึ่งในขณะนั้น พระยาถลาง(เจิม) เป็นผู้ดูแลเมืองภูเก็ต ในช่วงเวลานั้น มีชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากผ่านทางแหลมมลายู และรวมถึงคณะงิ้วเร่ที่มาเปิดการแสดงด้วย ….
ครั้งหนึ่ง บรรดานักแสดงในคณะงิ้วล้มป่วย และนึกขึ้นได้ว่า เมื่อครั้งอยู่ที่เมืองจีน พวกตนมีพิธีถือศีลกินเจเป็นประจำทุกปี คือ การกินเครื่องกระยาบวช ,งดของคาวของสดทุกอย่าง, นุ่งขาวห่มขาว และปล่อยผม ห้ามรวบ หากประพฤติผิดจะต้องไปนั่งคุกเข่าขอขมาองค์เทพด้วยการ “โขกศรีษะ” เพื่อเป็นการขอให้องค์เทพให้อภัย
….. และเมื่อนึกขึ้นได้ จึงได้ร่วมใจกันประกอบพิธี ละเว้นการกินเนื้อสัตว์ ฝึกกายใจให้สงบ จนกระทั่งทุกคนหายป่วย เมื่อความดังกล่าว รับรู้ไปถึงชาวกะทู้ และเห็นว่าการประกอบพิธีถือศีลกินเจนี้ ดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจ จึงได้ลองถือปฏิบัติตาม และได้ผลดี …
ชาวกะทู้จึงมีความคิดว่า ถ้าพิธีถือศีลกินเจ ปฏิบัติแล้วดี ถ้าเช่นนั้นควรยึดถือและเรียนรู้ การประกอบพิธีถือศีลกินเจให้ถูกต้อง… ชาวกะทู้จึงได้รวบรวมเงิน เพื่อเดินทางไปยังมณฑลกังไส หนึ่งในพื้นที่ตำนาน และการสืบสานพิธีถือศีลกินเจ เพื่อศึกษาพิธีกรรม และได้อัญเชิญขี้ธูปและควันธูปจากมณฑลกังไสนำกลับมายัง อำเภอกะทู้ โดยมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือบางเหนียวราวปีพุทธศักราช ๒๓๙๘ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีถือศีลกินเจของประเทศไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมา …
พิธีกรรมถือศีล กินเจ ยังมีไฮไลท์อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ คือ การทรงเจ้าของม้าทรง
นักท่องเที่ยวทั่วโลก ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก กับพิธีกรรม ในเทศกาลกินเจ ในประเทศไทย และไฮไลท์ของเทศกาล คือ การทรงเจ้าของม้าทรง ซึ่งพิธีกรรมส่วนนี้ สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นกลุ่มขบวนการอั้งยี่ ที่มีชื่อว่า อั้งยี่สายกังเซียง ซึ่งประกอบอาชีพเป็นคนทรงเจ้า ที่มีศรัทธาในพิธีกรรมถือศีลกินเจ ได้เข้าร่วมพิธีกรรมด้วย แต่ในส่วนของหลักฐานเหล่านี้ ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างชัดเจนนัก แต่ที่แน่ๆ และผู้เขียนยืนยันได้ถึงอภินิหารเหล่านี้ เพราะเห็นแก่ตา ได้ยินกับหู ประสาทสัมผัสทั้งห้ายืนยันได้ว่า “ม้าทรงมีจริง” การทรงเจ้ามีจริง ทุกอย่างเป็นศรัทธาอันแรงกล้าในพิธีกรรมเหล่านี้ … ทั้งนี้ขอให้ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและรับรู้ด้วยความนึกคิดของตนเองค่ะ
ผู้เขียนไม่ได้โน้มน้าว ให้ทุกท่านต้องเชื่อตามนะคะ …. แต่เรื่องราวของประเพณี ถือศีลกินเจ เป็นสิ่งที่ผูกพันกับชีวิตผู้เขียนมาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านนั้น คุณพ่อถือศีลกินเจ อย่างเคร่งครัด และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งประกอบพิธีมายาวนาน อีกทั้ง คุณพ่อยังเป็นหนึ่ง ในผู้ประกอบพิธีกรรมอันสำคัญมาก คือ “การอ่านรายงานต่อเบื้องบน” ทำการเรียบเรียง และรวมถึง การนำสวดมนต์ถวาย โดยการอ่านรายงาน และคำกลอนนั้น จะเป็นภาษาจีนโบราณ การอ่านเป็น บทกลอน ต้องใช้ทักษะ ในการอ่าน เป็นอย่างมาก ผู้เขียนติดตามคุณพ่อไปศาลเจ้า เพื่อประกอบพิธีกรรมอยู่บ่อยๆ จึงจดจำรายละเอียดงานประเพณีกินเจได้เป็นอย่างดี …
( … บอกเล่ากันมาถึงตรงนี้แล้ว ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลค่ะ )
และหากไม่คิดอะไรให้ซับซ้อนมาก … การยึดถือในศีล การละเว้นความชั่ว และทำความดี ย่อมเป็นกุศลแต่ตนเอง ส่วนการกระทำในทางตรงข้าม คือ การกระทำหรือกรรมของใครของมัน มีผู้เดียวที่ทราบ คือ ผู้กระทำ ..
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
ประเพณีถือศีล กินเจ จึงไม่ได้หมายถึงแต่ว่า การละเว้นการกินเนื้อสัตว์แล้วจะได้บุญ … หากแต่ยังหมายถึง การรักษาศีล เช่นเดียวกันกับในศาสนาพุทธ ที่มีการรักษาอุโบสถศีล .. การถือศีลกินเจ จึงสรุปสั้นๆ ได้ว่า
- ปากต้องดี หมายถึงพูดจาดี เป็นมงคล ไม่พูดหยาบคาย ไม่ใส่ร้ายผู้อื่น
- ใจต้องดี คือ คิดดี มีจิตอันบริสุทธิ์ และ
- กายต้องดี คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
อาหารเจ ก็มีส่วนสำคัญ เช่นกัน เพราะการเลือกทานผักเพื่อรักษาศีลในประเพณีกินเจนี้ จะต้องคำนึงเสมอว่า ทานผักได้ แต่ไม่สามารถทานได้ทุกอย่าง … ซึ่งผู้อ่านที่ทานเจอยู่แล้ว ย่อมทราบดีว่า มีผัก ๕ ชนิดที่ไม่สามารถทานได้ ซึ่งได้แก่
- กระเทียม
- หัวหอม
- กุยช่าย
- ใบยาสูบ
- หลักเกียว
ผักทั้ง ๕ ชนิด ยังหมายรวมถึง ลำต้นและผล ด้วยนะคะ ข้อห้ามนี้ นอกจากเหตุจะเกี่ยวกับกลิ่นฉุนของผักดังกล่าว ที่หากนำมาประกอบอาหารแล้ว อาจส่งผลต่อธาตุทั้ง ๕ และทำให้มีผลกระทบต่ออารมณ์ เกิดความแปรปรวนในจิตใจได้ จึงเป็นสาเหตุที่การกินเจ จะต้องละการทานผักทั้ง ๕ ชนิดดังที่กล่าวมา …
ยังมีตำนานว่าด้วย ข้อห้ามการกินผักทั้ง ๕ ชนิดอีกด้วยค่ะ ..
เรื่องนั้นมีอยู่ว่า …… ในสมัยพระจักรพรรดิเหลียงบู่ตี่ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำกุศล สวดมนต์อยู่เสมอ และโปรดให้พระมเหสี ประกอบอาหารเพื่อนำไปถวายพระภิกษุอยู่เสมอเช่นกัน พระมเหสีนั้น ทรงเบื่อหน่ายและเกลียดชังพระพุทธศาสนา ทรงออกอุบายหลายต่อหลายครั้ง เพื่อขัดขวางไม่ให้องค์พระจักรพรรดิไปทำบุญ และสวดมนต์ …
…. วันหนึ่ง เมื่อองค์พระจักรพรรดิ ทรงโปรดให้พระมเหสีประกอบอาหาร แต่ด้วยพระมเหสี มีความเบื่อหน่ายเป็นทุนเดิม และไม่ศรัทธา พระมเหสีจึงแอบใส่เนื้อสัตว์ลงไปเป็นส่วนผสมในอาหารเจ และนำไปถวายพระอาราม
ครั้นเมื่อถึงเวลาฉันอาหาร พระภิกษุได้กลิ่นอาหาร จึงทราบได้ทันทีว่า อาหารที่พระมเหสีนำมาถวายนั้น มีเนื้อสัตว์ปนอยู่ …. พระภิกษุจึงหยุดฉัน และสั่งให้ลูกศิษย์ นำไปเททิ้ง …ต่อมา ในบริเวณที่เททิ้งอาหารนั้น บังเอิญว่ามี พืชผัก ชนิดที่มีกลิ่นฉุน เจริญเติบโตอยู่ ซึ่งพืชผักที่ว่านั่นก็คือ กลุ่มผักกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม กุ่ยช่าย ฯลฯ จึงทำให้ทราบว่า พืชกลิ่นฉุนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นพืชผักที่เติบโตขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากของคาว จากเนื้อสัตว์ จึงให้ถือว่า ผักฉุนดังกล่าวไม่เหมาะกับผู้ถือศีลกินเจ จะรับประทาน…
ในคติความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ยังถือว่า การยกเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ และผักกลิ่นฉุน ถือเป็นข้อศีลโพธิสัตว์ ผู้ใดที่ละเมิดย่อมต้อง “อาบัติ” นี่จึงเป็นที่มานับแต่นั้นว่า ผักกลิ่นฉุนเป็นข้อห้ามของการทานเจ
และนี่คือตำนานและเรื่องเล่า ที่ว่าด้วยประเพณีถือศีลกินเจ อีกเวอร์ชั่น ที่อ่านแล้ว ออกจะดูเป็นแนวๆ เกี่ยวข้องกับกำลังภายในเข้ามาแทรกให้ชวนอึ้งกันบ้างนะคะ … และสำหรับ Episode ศาสตร์แห่งการกินผัก : ปฐมบท ว่าด้วยเรื่อง ประเพณีถือศีลกินเจ จึงขอบอกเล่าเพียงเท่านี้ค่ะ
… ว่าแต่…. ก็คงต้องมีผู้อ่านที่สงสัยใน ศาสตร์การกินผัก อีกว่า การกินเจ การกินมังสวิรัติ และการกินแบบ Flexitarian หรือในยุคสมัยใหม่ ที่ผู้คนนิยมทานผักกันมากขึ้น เรียกว่า กลุ่ม Plant-Based ต่างกันอย่างไร มีข้อห้ามอะไรอื่น อีกหรือไม่ ? ผู้เขียน ขอแปะเอาไว้ก่อน … ผู้เขียนจะมาเล่าต่อใน Episode ต่อไปนะคะ 😉 โปรดรอติดตามชม …
สำหรับ Episode นี้ ขอให้ทุกท่านที่รับประทานเจ ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และมีสุขอนามัยที่แข็งแรงกันทุกท่านค่ะ “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ