Thai Book Review แนะนำหนังสือ

กะดีจีน เพชรเม็ดงามแห่งการผสมผสานทางวัฒนธรรม ตอนที่ ๓

      นับแต่จาก ได้ชม ซางตาครู๊ส โบสถ์ชาวคริสต์ ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ในตอนที่ 1 ต่อเนื่องมาถึง ศาลเจ้าอันเก่าแก่ ที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม ศาลเจ้าเกียนอันเกง ในตอนที่ 2 เรายังไม่จบทริปในวันนี้ค่ะ ศาสนสถานที่สำคัญมากๆ อีกแห่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กุฎีจีน หรือกะดีจีนแห่งนี้ นับตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศาสนสถานของชาวพุทธศาสนิกชน นั่นก็คือ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง ของชาวจีน

      วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ๆกับคลองบางกอกใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารแห่งนี้ จึงนับได้ว่า เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวฝั่งธนบุรีอีกแห่ง ที่สำคัญ ภายในวัดมีพระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่คนจีนเรียกกันติดปากว่า ซำปอกง” ส่วนคนไทยมักเรียกว่าพระโต” หรือ หลวงพ่อโต” ประดิษฐานเป็นพระประธาน

ซำปอกง หรือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร องค์พระมีสีเหลืองทองอร่ามทั้งองค์ และสวยงามจับตายิ่งนัก

ซำปอกง หรือ หลวงพ่อโต

        พื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ แต่เดิมเป็นของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ หรือ โต แซ่อึ่ง ต้นสกุลกัลยาณมิตร ซึ่งท่านได้เคยทำมาค้าขาย เป็นมิตรที่ดี และซื่อสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เป็นพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ท่านได้ซื้อที่ดิน และได้อุทิศพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสร้างวัดถวายเป็นพระอารามหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ช่วยสร้างวิหารหลวงและทรงเสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์ในวันที่ ๑๘ พ.. ๒๓๘๐ พระองค์ทรงมีความตั้งใจให้วัดแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับ วัดพนัญเชิงวรวิหาร เหมือนที่กรุงศรีอยุธยา และทรงเอาเคล็ดว่าเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ท่านมีชื่อว่า โต” และด้วยการทำการค้าที่ซื่อสัตย์ และเป็นมิตรที่ดีเสมอมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงทรงพระราชทานชื่อวัดแห่งนี้ว่า วัดกัลยาณมิตร” มีความหมายว่า มิตรที่ดี

      ความพิเศษของวัดแห่งนี้ เป็นงานสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน มีความสวยงามและโดดเด่นในการสร้างแบบภูมิปัญญาไทยด้วยสัดส่วนสวยงามและลงตัวมาก อย่างเช่น พระวิหารหลวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก เสาวิหารทรงสี่เหลี่ยมไม่ได้ใช้วิธีการตอกเสาเข็ม แต่เป็นการสร้างรากฐานด้วยการขุดพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยม แล้วใช้ไม้ซุงขนาดใหญ่ทั้งท่อนวางเรียงซ้อนๆ กัน หลายๆ ชั้น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดเป็นลวดลายดอกไม้ที่งดงาม ด้านนอกยังมีตุ๊กตาจีนประดับ รวมถึงซุ้มประตูหิน ศิลปะจีนตั้งอยู่ ทางวัดเรียกว่าประตูสวรรค์

พระพักตร์ของพระพุทธไตรรัตนนายก

 

น้ำกระสายยา มหาพิกัด-ตรีผลา โฮมบรูว์ HomeBrew สูตรเข้มข้น
น้ำกระสายยา มหาพิกัด-ตรีผลา โฮมบรูว์ HomeBrew สูตรเข้มข้น


 

      สำหรับพระประธาน พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระราชทานเช่นกัน ทรงมีพระราชประสงค์อยากให้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ริมน้ำ เช่นเดียวกับที่วัดพนัญเชิง กรุงศรีอยุธยา แต่พระพักตร์ของพระพุทธไตรรัตนนายก จะมีพระพักตร์ที่อมยิ้ม ซึ่งต่างจากพระพักตร์ที่วัดพนัญเชิง ที่พระพักตร์ดูครุ่นคิดและเครียด ทั้งนี้อาจจะสันนิษฐานได้ว่าในช่วงของการสร้าง สภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ในช่วงของรัชกาลที่ ๓ พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งบ้านเมืองยังสงบสุข ซึ่งต่างจากช่วงการสร้างวัดพนัญเชิง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ยังมีการต่อสู้และทำสงครามตลอดเวลา

       พระพุทธไตรรัตนนายก นับได้ว่า เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร หากใครได้ไปเยือน เพียงแค่ก้าวแรกที่เข้าไปในพระวิหารหลวง นาทีแรกที่สัมผัสได้คือ ความทึ่งในขนาดอันใหญ่โต และงดงามเหลืองอร่ามขององค์พระสีทอง ในวันที่ไป ผู้เขียนได้พบปะกับนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแน่นอนเสียงแรกที่ได้ยิน คือ คำอุทานเสียงดัง เมื่อเห็นองค์พระขนาดใหญ่ของหลวงพ่อโต ต่างคนต่างทึ่งและอึ้งมากว่า คนไทยในสมัยก่อนสามารถสร้างพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่และงดงามได้ถึงเพียงนี้

       ชาวไทย รวมถึงชาวจีนให้ความเคารพและศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อโตยิ่งนัก โดยเฉพาะการมากราบไหว้ขอพร เพื่อให้ค้าขายดี ทำมาค้าขึ้น เดินทางปลอดภัย อีกทั้งการขอพรให้สุขภาพแข็งแรง หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดอย่างหนัก ชาวบ้านได้มาขอพรจากหลวงพ่อโต และทำน้ำมนต์ดื่ม จนกระทั่งรักษาหายขาด จึงเป็นความเชื่อที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ทั่วทุกสารทิศ

หลวงพ่อโต หรือซำปอกง ที่คนไทยเรียกขานกันนั้น มีประวัติเล่าว่า ซำปอกง ท่านเกิดในครอบครัวชาวมุสลิมในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เดิมที ท่านมีนามว่า หม่า เหอ ครั้งหนึ่งเกิดสงคราม หม่า เหอ ได้ตกเป็นเชลยและถูกส่งตัวเข้ามาในกองทัพจีน และได้ไปเป็นขันทีรับใช้เอี้ยนหวังจูตี้ องค์ชายแห่งราชวงศ์หมิงที่ปักกิ่ง ท่านหม่า เหอ ได้ทำความดีความชอบ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จนได้นามสกุลพระราชทานเจิ้งจึงเป็นที่มาของนามว่า เจิ้งเหอ หรือ นายพลเจิ้งเหอ ผู้ชำนาญการเดินเรือในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ จนยากที่จะหาใครเทียบเทียมได้ ตลอดการทำงานรับใช้ราชวงศ์หมิง นายพลเจิ้งเหอ ได้เปิดประตูการค้าของจีนอย่างยิ่งใหญ่ เปินการเปิดประตูสู่โลกกว้างทางการค้าที่สำคัญที่สุดของโลก เป็นประวัติศาสตร์การเดินเรือของโลก ที่คนทั่วโลกรู้จักและให้การยกย่อง … ตำนานเหล่านี้จึงเป็นที่มาของความศรัทธาที่ชาวไทย และชาวไทยเชื้อสายจีน ให้ความเคารพและศรัทธาอย่างสูงสุด

ประเพณีทิ้งกระจาด
ในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน ประเพณีทิ้งกระจาด หรือประเพณีการห่มผ้า จึงมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมากราบไหว้กันอย่างคับคั่ง แต่ในปัจจุบันประเพณีทิ้งกระจาด และห่มผ้าหลวงพ่อโต ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

 

  • ในประเทศไทย มีหลวงพ่อโตองค์ใหญ่เพียง 3 แห่งเท่านั้น ซึ่งได้แก่ หลวงพ่อโต ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร .พระนครศรีอยุธยา , วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร และวัดอุภัยภาติการาม จ.ฉะเชิงเทรา

 

เจิ้งเหอ ซำปอกงเจิ้งเหอ ซำปอกง หลวงพ่อโต เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

หม่า เหอ เกิดในครอบครัวชาวมุสลิมในมณฑลยูนนาน เป็นขันทีรับใช้เอี้ยนหวังจูตี้ องค์ชายแห่งราชวงศ์หมิงที่ปักกิ่ง นามว่า เจิ้งเหอ หรือ นายพลเจิ้งเหอ ผู้ชำนาญการเดินเรือใน มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เจิ้งเหอเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา รวม 4 ครั้ง ครั้งแรก และครั้งที่สอง ในรัชสมัย พระรามราชาธิราช ครั้งที่สามและครั้งที่สี่ ในรัชสมัย สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์)

Zheng He

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อวัดพนัญเชิง เมื่อเจิ้งเหอเป็น ราชทูตเข้ามายังสยามหรือกรุงศรีอยุธยา ถึง 4 ครั้ง ทางราชสำนักสยาม อาจเรียกเจิ้งเหอว่านายเชิง เดิมใช้คำว่า เชิงโห(Cheng Ho) ปัจจุบันใช้เจิ้งเหอ ( Zheng He ) เมื่อนายเชิงเห็นสภาพองค์พระพนัญเชิงชำรุดทรุดโทรม เพราะสร้างด้วยอิฐถือปูนมานานแล้วถึง 81 ปี (พ ศ. 1867-1948) รวมทั้งองค์พระมีขนาดใหญ่มากตลอดจนเสนาสนะของวัดย่อมเป็นไปตามกาล …. เจิ้งเหอจึงให้ช่างจีนที่มากับเรือช่วยกันบูรณะปฎิสังขรณ์ ช่างจีนรวมทั้งทหารจีนตลอดจนพ่อค้าจีนต่างให้ความเคารพองค์พระเจ้าพนัญเชิง และเรียกองค์พระท่านว่า ปนเถ่ากง หรือองค์พระภูมิเจ้าที่ ผู้ปกปักรักษาบริเวณบ้าน ร้านรวงของตน แต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะเดียวกันคนไทยต่างเรียกขานกันว่า วัดนายเชิง ต่อมาคำว่าวัดนายเชิงเพี้ยนเป็นวัดพระนายเชิง วัดพระนางเชิง วัดเจ้าพระนางเชิง วัดพแนงเชิญ วัดพนัญเชิญ ในที่สุด

กะดีจีน ผสมผสานทางวัฒนธรรม ตอนที่ ๓

วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพมหานคร นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ๑ ใน ๓ แห่งในประเทศไทย แล้ว ภายในวัด ยังมีสิ่งน่าสนใจและควรค่าแก่การเรียนรู้ ศึกษาเพิ่มเติมอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ซึ่งเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ และอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำและพระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ , งานสถาปัตยกรรมแบบจีนด้วยหน้าบันปั้นลายดอกไม้ประดับกระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน, หอระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย , เจดีย์ทรงเหลี่ยมที่สร้างขึ้นในจีน ฯลฯ

       กล่าวกันว่า หากได้มีโอกาสกราบไหว้หลวงพ่อโตทั้ง ๓ วัด ก็จะบังเกิดสิริมงคลอันใหญ่หลวง

    สำหรับตัวฉันแล้ว การได้กราบไหว้หลวงพ่อโตแม้เพียงวัดเดียว ก็ถือเป็นสิริมงคลยิ่ง สิ่งสำคัญ คือ ความสงบ และสติ สัมปชัญญะ ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เราตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าองค์พระต่างหาก ที่เป็นสิริมงคลต่อความคิด และจิตสำนึกของตนเอง การไปไหว้แล้วได้นำคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต คือ มงคลสูงสุด จับต้องไม่ได้ แต่สัมผัสได้ด้วยใจและความคิด สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะช่วยให้เราเจริญทั้งสติ ปัญญา และการกระทำเพื่อความสุขอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

อ้างอิง

ประชาสัมพันธ์

Banana ไซเดอร์ วีนีก้าร์ - N1

ประวัติวัดกัลยาณมิตร  http://watkanlayanamitra.blogspot.com/2012/10/blog-post_23.html

สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร   http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.php?option=com_content&view=article&id=41&Itemid=38

ธรรมะไทย  http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watkalayanamit.php

ย้อนรอยวัดกัลยาณมิตร คมชัดลึก  http://www.komchadluek.net/news/edu-health/203374

30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์
หนังสือ แนะนำ 30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์

ปีนี้เป็นวาระสำคัญและเป็นมงคลยิ่งสำหรับสายสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างรัฐและประชาชนของราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐปะชาชนจีน กล่าวคือ เป็นปีของการครบรอบ 30 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 และประจวบเหมาะกับการครบรอบ 600 ปีสมุทรยาตรของนายพลเรือเจิ้งเหอของราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นที่รู้จักและเคารพบูชากันในเมืองไทย ในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนของเราในนามของซำปอกง ดังที่ปรากฏอยู่ที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดกัลยาณมิตรฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร กล่าวโดยทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้นมีนับเนื่องมาเป็นเวลาหลายร้อยปี มีการส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ระหว่างราชสำนักไทยในสมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กับราชสำนักที่กรุงปักกิ่ง ในระดับของประชาชนก็มีการติดต่อไปมาค้าขายซึ่งกันและกันมาอย่างสม่ำเสมอ มีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยบนแผ่นดินไทย พึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตราธิราชของเราและกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชากรไทยในปัจจุบันดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว

  • ชื่อหนังสือ  :  30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์
  • ISBN    9789749497777   สำนักพิมพ์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์   ปีที่ผลิต 21 พฤษภาคม 2558
  • จำนวนหน้า  317 หน้า
  • ขนาด  20 x 29 ซ.ม.
  • ราคา   320 บาท


Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article