miscellaneous, Thai Book Review แนะนำหนังสือ

เยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

       หนึ่งในบรรดาพิพิธภัณฑ์ที่ข้าพเจ้าได้เคยไปล่องไปท่องมาในชีวิต พิพิธภัณฑ์ ที่ว่าด้วยความครบครัน การรักษาอุปกรณ์ ของเครื่องใช้ส่วนของพระมหากษัตริย์ ที่สมบูรณ์แบบทั้งในแง่ของเอกสาร สิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ รวมถึงการจัดแสดง และรูปแบบการตกแต่ง สถานที่จัดแสดง การนำเสนอ และเอกสารสำคัญทางราชการที่หาดูที่ไหนไม่ได้ เป็น Rare Item ที่ให้โอกาสสาธารณะชนได้ศึกษา เข้าถึงอย่างใกล้ชิด ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จัก พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เชิงสะพานผ่านฟ้า พิพิธภัณฑ์ที่จะทำให้ทุกท่านได้รู้จักชีวิตส่วนพระองค์ และเรียนรู้ถึงพระราชจริยวัตรอันงดงาม ความเรียบง่าย และสมถะในการดำเนินพระชนม์ชีพ นอกเหนือจากวาระสำคัญว่าด้วยเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทย

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

          พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นำมาจัดแสดง ภายใต้การดูแลโดยสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมมา ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ และได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย สวยงามมากขึ้นจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จัดแสดงในอาคารอนุรักษ์ที่สวยงาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ เวลานั้น (รัชกาลที่ ๑๐ ใน ปัจจุบัน) เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการในวันที่ ๗ ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

ตัวอาคารที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นอาคารอนุรักษ์ มีทั้งหมด ๓ ชั้น

             ตัวอาคารที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นอาคารอนุรักษ์ มีทั้งหมด ๓ ชั้น แรกเริ่มคือ ห้างยอน แซมป์สัน แอนด์ ซัน (John Sampson & Son Limited) ซึ่งเป็นสาขาของห้าง Messrs. Sam & Sampson & Son จำหน่ายผ้าและรับตัดเสื้อผ้า รองเท้า รวมทั้งอานม้าที่มีซื่อเสียงย่านบอนด์สตรีท (Bond Street) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำจากประเทศอังกฤษ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนให้มาเปิดกิจการครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรป โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอาคาร และให้ทางห้างเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินกิจการ จนหมดสัญญาในสมัยรัชกาลที่ ๗ อาคารอนุรักษ์หลังนี้ปัจจุบันได้รับการบูรณะเพิ่มเติม มีเนื้อที่ใช้สอยในการจัดแสดงนิทรรศการทั้งแบบถาวรและหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ลักษณะอาคารพิพิธภัณฑ์นั้นงดงาม โดดเด่นเป็นสง่า ตัวอาคารทาสีเขียวซึ่งเป็นสีประจำวันพุธ วันพระราชสมภพของพระองค์ หากใครเดินทาง หรือผ่านถนนราชดำเนิน ก็จะมองเห็นอาคารหลังนี้สวยโดดเด่นสะดุดสายตาอยู่ตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าอย่างแน่นอนค่ะ

ช่วงไทม์ไลน์แห่งรัชสมัย

        การจัดแสดงนิทรรศการของที่นี่ เริ่มต้นจากการชมพระราชประวัติ ช่วงไทม์ไลน์แห่งรัชสมัย ซึ่งจัดทำได้ดีมากๆ ค่ะ เพราะไม่ได้มีแต่ข้อมูลเฉพาะรัชสมัยเท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูล/ ความรู้เพิ่มเติมในส่วนของเหตุการณ์สำคัญของโลก เปรียบเทียบระยะเวลาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้อย่างละเอียดอีกด้วยค่ะ ซึ่งชั้นที่จัดแสดงพระราชประวัติส่วนพระองค์ ตั้งแต่ ทรงประสูติ การศึกษาเล่าเรียน ทรงผนวช การสืบราชสันตติวงศ์ การสละราชสมบัติ จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพจะจัดแสดงในชั้นที่ ๒ ค่ะ ซึ่งในชั้นนี้ สำหรับข้าพเจ้านับได้ว่าเป็นชั้นการจัดแสดงเนื้อหาที่มีไฮไลท์ และมากคุณค่าต่อการใช้เวลาในการชมเป็นอย่างมาก เพราะมีข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ทั้งเครื่องทรง ภูษาอาภรณ์ เครื่องแบบในพระองค์ ฉลองพระบาท ที่หาชมไม่ได้ที่ไหน เป็นฉลองพระองค์ที่ทรงใช้เป็นประจำ เครื่องหมายประจำพระองค์ ภาพเก่าที่หาชมยากเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ และมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๗ พระราชประวัติสอดแทรกเพิ่มเติมในชั้นนี้ด้วยค่ะ

        นอกเหนือจากพระราชประวัติส่วนพระองค์ และเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่จัดแสดงได้อย่างน่าสนใจแล้ว ยังมีเรื่องราวส่วนพระองค์ พระราชจริยวัตรและพระราชนิยมส่วนพระองค์ ซึ่งเชื่อว่ามีหลายๆท่านอาจยังไม่เคยทราบ หรืออาจจะทราบบ้างก็แค่บางส่วนเท่านั้น แต่หากคุณได้ชมนิทรรศการในส่วนนี้ จะทำให้ทุกคนได้รู้จักพระองค์มากขึ้น อาทิเช่น จะมีใครทราบบ้างว่า พระราชนิยมที่ทรงโปรดอย่างหนึ่ง คือ การถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดสร้างโรงภาพยนตร์ที่เรารู้จักกันในนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” ทรงโปรดการถ่ายทำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญ สังคม วิถีชีวิตชาวบ้าน และภาพยนตร์ที่ทุกคนอาจจะเคยได้ชมหรือรู้จักกันบ้าง คือ ภาพยนตร์เรื่องแหวนวิเศษ

นิทานของลุง แหวนวิเศษ

กีฬาทรงโปรด

            นอกจากนี้ยัง ทรงโปรด การอ่านหนังสือ ทรงพระอักษร เราจะเห็นภาพถ่ายส่วนพระองค์ในอิริยาบถการอ่านหนังสืออยู่บ่อยๆ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริมให้ทุกคนรักการอ่าน และส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรมควบคู่กันไป ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่โปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ หนังสือพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กและเยาวชน โดยทรงเล็งเห็นว่าเยาวชนไทยนับวันจะห่างไกลจากคุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง จึงทรงโปรดให้พิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนา เพื่อให้เยาวชนได้เข้าถึงและซึมซับถึงหลักธรรม นอกจากนี้พระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์ เช่นเราได้อ่านในปัจจุบัน ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เช่นกันที่ทรงโปรดให้จัดพิมพ์และเรียบเรียงเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์

 

ชั้นที่ ๓ เป็นชั้นที่คุณผู้อ่านทุกท่านต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษกว่าชั้นอื่นๆ

             ในส่วนของเรื่องราวความเป็นมาของการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทย จะจัดแสดงในชั้น ๓ ของอาคาร ซึ่งชั้นนี้ ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้ผู้ที่สนใจในระบอบประชาธิปไตย การบ้านการเมือง การบริหารการเมืองการปกครอง ไม่ควรพลาดค่ะ ท่านที่สนใจในรายละเอียดเรื่องรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ชั้นที่ ๓ เป็นชั้นที่คุณผู้อ่านทุกท่านต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษกว่าชั้นอื่นๆ เพราะมีรายละเอียดที่ครบถ้วนมาก การที่ประเทศไทยของเราได้ระบอบการเมืองการปกครองที่เรียกอย่างสวยหรูว่า ระบอบประชาธิปไตย มาจากประเทศชาติที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วนั้น ผ่านขั้นตอนและสร้างวิกฤติ ความทุกข์ยาก ทุกข์ใจต่อพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างไรบ้าง และประชาธิปไตยแบบกระท่อนกระแท่นที่เป็นเช่นทุกวันนี้ หรือที่หลายๆคน อาจจะพูดว่า ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ มีสาเหตุที่มาจากอะไร ? นิทรรศการ ชั้น ๓ มีคำตอบให้ทุกท่านที่ใฝ่รู้ในเรื่องการเมืองการปกครองได้อย่างชัดแจ้ง

           ซึ่งอันที่จริงแล้ว หากย้อนไปถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชบิดา ได้ทรงวางรากฐานเรื่องความเป็นประชาธิปไตยไว้อยู่แล้ว แต่ทรงเล็งเห็นว่าการให้ความรู้ การศึกษาแก่พสกนิกรในเรื่องระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็นเป็นอันดับแรก ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระเชษฐาในพระองค์ ก็ได้มีการจำลองเมืองดุสิตธานีขึ้น เพื่อทดลองเมืองแบบประชาธิปไตย ว่ามีข้อบกพร่องหรือต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เพื่อให้พสกนิกรไทยได้มีความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เองก็มีพระราชดำริที่จะสานต่อสิ่งที่พระราชบิดา และพระเชษฐา ได้ทรงวางแผนไว้ ทรงมีพระราชดำริที่จะฝึกฝนให้พสกนิกรไทย มีความพร้อมสำหรับการปกครองระบอบแบบประชาธิปไตย โดยเสด็จเยี่ยมพสกนิกรอยู่เนืองๆ กระแสพระราชดำรัสหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะพระราชทานรัฐธรรมนุญให้ปวงชนชาวไทย มาจากครั้งที่ทรงได้อ่านข้อความเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศอิตาลี ข้าพเจ้าจึงขออัญเชิญข้อความดังกล่าวมาลงไว้เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่าน ดังนี้ …..

 

    “….การจะสอนให้คนไทยนิยมการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหมือนกับที่อิตาลีสอนคนของเขาให้นิยมการปกครองแบบฟาสซิสต์นั้น เป็นการช้าเกินไปเสียแล้ว ทรงกล่าวถึงทางเลือกในอนาคตว่า ถ้าจะมีการปกครองแบบฟาสซิสต์และมีพรรคฟาสซิสต์น่าจะดีและเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ทรงแน่พระราชหฤทัยว่าจะทำได้ เพราะฉะนั้นจึงทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าทำไม่ได้แล้ว ควรเตรียมการที่จะเปลี่ยนเป็นระบอบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องให้การศึกษาไปในทางนั้น……”

แต่กาลที่ทรงมีพระราชกระแสและมีพระราชดำริให้เตรียมการนั้นช้าไปเสียแล้ว เพียง ๑ เดือนให้หลัง ก็เกิดการปฏิวัติโดยคณะราษฎรในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕

             เหตุการณ์ในช่วงนี้ มีจัดแสดงในนิทรรศการอย่างละเอียดถี่ยิบ ครบถ้วนทั้งสำเนาเอกสารต้นฉบับ ลายพระหัตถ์ ประกาศจากคณะราษฎร พระบรมราชโองการที่สำคัญ พระราชกระแสรับสั่งถึงการพระราชทานรัฐธรรมนูญแด่พสกนิกรไทย และเนื้อหารายละเอียด บันทึกทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองที่หาอ่านจากที่อื่นได้ยากนัก แต่ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งนี้ รวบรวมเนื้อหา ใจความสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวจากทุกแหล่งได้อย่างครบถ้วนและละเอียด ข้าพเจ้าถึงได้แนะนำว่า คุณผู้อ่านอาจจะต้องใช้เวลาในการอ่านและศึกษาเป็นเวลานานพิเศษ ยิ่งหากคุณผู้อ่านสนใจเรื่องการเมืองการปกครองแล้ว ข้าพเจ้าขอการันตีว่าทุกๆก้าวของการเดินชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะพลาดการอ่านไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว

              สถานการณ์ในช่วงเวลาของการทำปฏิวัตินั้น พระองค์ยังทรงมีบันทึกส่วนพระองค์ถึงความทุกข์ยากลำบากใจ ถึงขั้นที่พระองค์คิดว่า หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินจนพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๗ ไม่สามารถดำเนินการหรือควบคุมใดๆ ได้ ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ห่วงหากพระชนม์ชีพจะต้องสูญสิ้นไป ทั้ง ๒ พระองค์ทรงกล้าหาญ และมีความเสียสละอย่างที่สุด ประชาชนคนไทยทุกคนควรได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณส่วนนี้ไว้อยู่เสมอ

พิพิธภัณฑ์ พระปกเกล้า

เยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์

                 นอกเหนือจากชั้น ๒ และ ๓ ที่มีเรื่องราวสำคัญและน่าสนใจ อย่างยิ่งแล้ว ในส่วนของชั้น ๑ ของอาคารพิพิธภัณฑ์ ยังมีเรื่องราวของ  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๗ พระจริยวัตรต่างๆ ความสนพระทัยส่วนพระองค์ ทั้งในการกีฬา และอื่นๆ รวมถึงพระราชกรณียกิจในพระองค์ที่ทรงงานเคียงคู่พระสวามีมาโดยตลอด ตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ รายละเอียดงานพระบรมศพ ความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ที่แสนจะเรียบง่าย ไม่มีใครคิดหรือคำนึงถึงว่าตลอดระยะเวลาแห่งพระชนม์ชีพ ทรงมีความสุข ความทุกข์อย่างไรบ้าง พระมหากษัตริย์ไทยผู้ยิ่งใหญ่อีก ๑ พระองค์ที่ต้องทรงใช้ชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ด้วยเหตุผลทางการเมืองและทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรไทยที่พระองค์ทรงรัก จะมีพสกนิกรไทยสักกี่คนที่จะทราบความจริง และเรียนรู้ข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น และเข้าใจถึงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร

         ข้าพเจ้าจึงอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านได้มาเยือน เรียนรู้ และเข้าใจ เพราะที่นี่มีคำตอบทุกเรื่อง คำบอกเล่าจากผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง ไม่ได้ผ่านการจินตนาการ หรือ การคิดเทอะทะไปเองโดยปราศจากข้อเท็จจริง และประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้นจริง และเอกสาร วัตถุการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการรับรู้ของพสกนิกรไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณจะได้เห็นสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ได้อย่างใกล้ชิด และด้วยตาเนื้อของคุณเอง

พิพิธภัณฑ์ ที่ว่าด้วยความครบครัน

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดทำการทุกวันยกเว้นวันจันทร์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดให้ทุกท่านได้เข้าชมตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐๑๖.๐๐น. โทรสอบถามเส้นทางและรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ ๒๘๐ ๓๔๑๔๕ ต่อ ๑๐๕ และ ๑๐๖

เว็บไซต์: www.kingprajadhipokmuseum.com/th/homepage

http://www.kingprajadhipokmuseum.com/th/gallery

ประชาสัมพันธ์

https://www.facebook.com/kingprajadhipokmuseum/

แนะนำหนังสือ เพิ่มเติม

     บอกเรื่องราวประวัติศาสตร์หลายประการที่ไม่อาจหาได้จากเอกสารอื่นๆ เพื่อความสะดวกในการอ่านเเละการจัดเก็บหรือค้นคว้า

      การอ่านเรื่องราวที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย บรรยายไว้ในเล่ม นับได้ว่าสะเทือนใจ และหดหู่กับการกระทำของผู้ก่อการแล้ว แต่นั่นยังไม่ลงลึกเท่า กับเรื่องราวในหนังสือเล่มที่ดิฉันได้แนะนำคุณผู้อ่านได้รู้จักเล่มนี้ เพราะในเล่ม กล่าวถึงบุคคลชัดเจน แถมยังมีเนื้อหารายละเอียด คำให้การในศาล ขั้นตอน วิธีการการวางแผนและลงมือ อำนาจที่หอมหวานมักทำให้คนหน้ามืด ตาบอด และหูหนวกอย่างแท้จริง !! ไม่แม้แต่จะคิดหรือยับยั้งชั่งใจในการกระทำว่าเป็นการริดรอนอำนาจและเสรีภาพของการเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่เริ่มต้น

สั่งซื้อออนไลน์ >>>  

 

 


 



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article