แม่พลอย ใน สี่แผ่นดิน Four reigns บทประพันธ์สุดแสนจะอมตะคลาสสิคตลอดกาลเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านได้กำหนดตัวละครหลักของเรื่องนี้คือ แม่พลอย
หญิงสาวที่เกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๕ และเสียชีวิตในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ รวมอายุได้ ๖๔ ปีเศษ กับการมีชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง ๔ แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งถึง แผ่นดินในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ ๘
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ให้ความเห็นถึงลักษณะนิสัย และความเป็นตัวตนของแม่พลอย เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ว่า “แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนที่เชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนั้น” และ “ที่นี่คนอ่านคนไทย ปลื้มอกปลื้มใจ เห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้นอ่อนน้อมถ่อมตน คนอ่านส่วนมากอยากเป็นแม่พลอย เป็นคนไทยมีใจรักชาติและสะท้อนให้เห็นแง่คิดในสังคมไทย นี่คือสาเหตุที่ สี่แผ่นดินถึงได้มีชื่อเสียง”
แม่พลอย แม้จะไม่มีความรู้ถึงเรื่องที่เป็นไปในบ้านเมืองนัก เพราะในชีวิต ตั้งแต่เกิดมา แม่พลอยก็ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ ที่บ้านคลองบางหลวง และไปเติบโตในรั้วในวัง ทำให้แม่พลอยเป็นสาวชาววังเต็มตัว ในแต่ละวันก็จะมีงานบ้านงานเรือน งานถวายรับใช้เสด็จ ซึ่งก็มีมากมายจนแทบไม่มีเวลาไปทำอะไรอย่างอื่น ชีวิตของแม่พลอยในรั้วในวังจึงเปรียบเสมือนโรงเรียนประจำ ที่นานๆ ที จะได้มีโอกาสออกมานอกรั้วนอกวังบ้าง ซึ่งในแต่ละครั้ง ก็ต้องทำเรื่องกราบทูลขออนุญาต และมักมีเหตุที่ต้องออกวังจริงๆ ถึงจะได้ออกมาดูความเป็นไปของโลกภายนอก(วัง) จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ หากบทบาทการเมือง ความเป็นไปของบ้านเมืองจะไม่เคยเข้ามาอยู่ในโสตประสาทการรับรู้ของแม่พลอยเลย เพราะเรื่องราวสวนใหญ่จะอยู่เฉพาะในแวดวงของชนชั้นนำในสมัยนั้นเท่านั้น