คุณเคยทราบหรือไม่คะว่า ทางเดินเท้า ที่เราเดินย่ำกันอยู่ทุกวันนี้ บนทางเท้ามีสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ให้ความสนใจ หรือความสำคัญนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันมีความหมายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับผู้พิการทางสายตาค่ะ
หากคุณลองสังเกตพื้นกระเบื้องที่ปูบนทางเท้า จะมีบางแผ่นที่พิเศษ มีลวดลายที่แตกต่างกันและเป็นลวดลายที่นูน อีกทั้งสีที่ต่างกันด้วย ปุ่มสัมผัสพิเศษเมื่อเราย่ำเท้าลงไปนั้น เราเรียกว่า Braille Block หรือ เบรลล์บล็อค ค่ะ พูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือ เป็นอักษรเบรลล์ที่ปรากฎบนทางเท้า ให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ได้ว่า เขาสามารถจะเลือกเดินไปในเส้นทางใดได้สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งจุดไหน คือ จุดที่ต้องหยุด หรือ รอค่ะ
ผู้ประดิษฐ์อักษรเบรลล์เป็นคนแรก คือ คุณครูตาบอดชาวฝรั่งเศส นามว่า หลุยส์ เบรลล์ ซึ่งท่านได้คิดค้นสัญลักษณ์แทนตัวอักษรโดยเลือกใช้จุดนูนเล็กๆ ขึ้นมา โดยในแต่ละช่องจะประกอบไปด้วยจุดนูนเล็กๆ 6 ตำแหน่ง และจัดวางสลับตำแหน่งไปมาเป็นรหัสแทนตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ ผลจากการคิดค้นของหลุยส์ เบรลล์ ทำให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสสื่อสาร เรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ มากยิ่งขึ้น เป็นการคิดค้นที่วิเศษที่สุด เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโลกให้กว้างขึ้นแก่ผู้พิการทางสายตาทุกคนบนโลกใบนี้
เท่านี้ยังไม่พอค่ะ ต่อมามีการต่อยอดการคิดค้นอักษรเบรลล์ขึ้นอีกครั้ง โดย คุณ Seiichi Meyaki นั่นคือ การนำอักษรเบรลล์มาสร้างเป็นสัญลักษณ์ให้แก่ผู้พิการทางสายตามากขึ้น โดยการทำทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่เรียกว่า Braille Block นั่นเองค่ะ
Seiichi Meyaki ครูโรงเรียนตาบอดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ได้คิดค้นทางเท้าที่เรียกว่า Tenji หรือ ที่รู้จักในชื่อของ Braille Block หรือ Tactile Paving ซึ่งเป็นทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา การคิดค้นครั้งนี้เริ่มในปีคริสต์ศักราช 1965 สองปีถัดมาตัวอักษรเบรลล์ได้นำมาประยุกต์และจัดสร้างเป็นกระเบื้องสำหรับทางเท้าขึ้น และได้มีการนำมาใช้จริงในครั้งแรกคือ วันที่ 18 มีนาคม ปีคริสต์ศักราช 1967 หน้าโรงเรียนสอนคนตาบอดในเมืองโอกายาม่า ได้รับเสียงตอบรับถึงความชื่นชมในการคิดค้น โดยมีหน่วยงานการรถไฟของประเทศญี่ปุ่น Japanese National Railway ให้ความเห็นชอบและสนับสนุนการจัดทำขึ้น โดยจัดให้มีการปู Braille Block ตามสถานีรถไฟในญี่ปุ่นก่อน และถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา จนกระทั่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการประดิษฐ์คิดค้นและนำมาใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน อาทิ เช่น ประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เป็นต้น
สำหรับสัญลักษณ์บนทางเท้าของผู้พิการที่น่าสนใจมี 2แบบ ที่ควรทราบค่ะ ซึ่งเป็น 2 แบบที่ คุณ Seichii Meyaki ได้ต่อยอดโดยการคิดค้นอักษรเบรลล์ขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการใช้ง่าย การจดจำและสะดวกต่อผู้พิการทางสายตา สัญลักษณ์ดังกล่าวคือ
แบบที่ 1 ลักษณะเป็นปุ่มกลมๆ ซึ่งมีความหมายว่า ให้หยุด หรือ แจ้งให้ทราบว่าทางข้างหน้า เป็นทางม้าลาย หรือ บันได ในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ให้ความใส่ใจต่อผู้พิการทางสายตาเป็นพิเศษยิ่ง โดยแผ่นกระเบื้องบนทางเท้ายังมีเสียงแจ้งเตือนให้ทราบอีกด้วยว่า สัญญาณไฟจราจรขณะนี้เป้นสีเขียว หรือ สีแดง เช่นหากเป็นไฟเขียว สัญญาณเสียง ก็จะส่งเสียงให้ทราบเป็นจังหวะ แต่หากไฟจราจรกำลังจะเปลี่ยนสัญญาณ เสียงสัญญาณก็จะถี่ขึ้น หรือเร็วขึ้นค่ะ
แบบที่ 2 ลักษณะเป็นเส้นยาวลายตรง ซึ่งมีความหมายตรงตามสัญลักษณ์ นั่นคือ ให้เดินตรงไป
สัญลักษณ์ทั้ง 2 แบบ เมื่อผู้พิการทางสายตาใช้ไม้เท้าอำนวยความสะดวกในการเดิน ก็จะสามารถสัมผัสและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น และที่สำคัญนอกจากอักษรเบรลล์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการบอกทิศทางและอำนวยความสะดวกในการเดินแล้ว ยังมีเรื่องของสี ซึ่งนิยมใช้สีเหลือง เพื่อความสว่างและมองเห็นง่าย กรณีนี้อำนวยความสะดวกเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่อาจจะมองเห็นได้บ้าง หรือ ผู้มีปัญหาทางการมองเห็น เพราะไม่ว่าจะกลางวัน หรือ กลางคืน ก็สามารถเห็นได้เช่นกันค่ะ
ไม่ว่าคุณ Seiichi Meyaki จะได้รับรางวัลจากนวัตกรรมที่ทรงคุณค่านี้หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ควรต้องบอก คือ คำขอบคุณเสียงดังๆ ต่อคุณ Seiichi Meyaki ที่ท่านได้ตั้งใจและมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสดำรงชีวิตในโลกภายนอกได้สะดวก เฉกเช่นผู้คนปกติทั่วไปบนท้องถนน คุณ Seiichi Meyaki ได้จากโลกนี้ไปแล้วด้วยวัย 57ปี ทิ้งผลงานที่คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ไม่ทราบว่าใคร คือ ผู้คิดค้นรหัสลับบนทางเท้า เป็นรหัสที่บอกถึงความรักและความปรารถนาดีจากคุณ Seiichi Meyaki ต่อเพื่อนร่วมโลก ผลงานของคุณ Seiichi Meyaki คือ นวัตกรรมแห่งความสุขของผู้พิการทางสายตาอย่างแท้จริง
Domo Arigatou Gozaimasu!!
อ้างอิง https://thelimpingphilosopher.wordpress.com/tag/seiichi-miyake/ http://design-real.com/paving/ Facebook: MyFreedom
Cultures of Fermented
by Scoby Doit
Related