Thai Book Review แนะนำหนังสือ, Uncategorized

คลังสมบัติสมัยพะงั่ว..ร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา

“อิฐเก่าๆ แผ่นเดียว ก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…”

 

พระแสงขรรค์ชัยศรี
พระแสงขรรค์ชัยศรี

          ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงมีกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน เปิดพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ กระแสพระราชดำรัสวรรคดังกล่าว ยังคงเป็นที่จดจำในสายตาของฉันตลอดมา และยิ่งจดจำได้มากยิ่งขึ้น เมื่อครั้ง เมื่อได้มาเยือน พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา อีกครั้ง ในปีดังกล่าว พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จประพาสเมืองอยุธยาและได้เสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย เข้าเยี่ยมชมและศึกษาหาความรู้ถึงรากเหง้าความเป็นไทย และความรุ่งเรืองของ กรุงศรีอยุธยาในอดีต

         วันนี้ฉันคงจะไม่ได้มาบอกกล่าวหรือแนะนำวัดสำคัญ โบราณสถานอย่างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ หรือ วัดมงคลบพิตร เพราะมั่นใจว่าหลายๆ ท่าน คงได้เคยไปเยี่ยมเยือน หรือไม่ก็ไปมาจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว หากแต่อยากจะขอกล่าวถึงผลพลอยได้ จากการไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  เพราะนอกจากจะได้ชมโบราณวัตถุอันล้ำค่า และศึกษาความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ รวมถึงการเรียนรู้เรื่องราวของพระเจ้าสามพระยา  อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่สุด นั่นคือ การเยี่ยมเยือนวัดสำคัญแห่งหนึ่งเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังเป็นที่มา ของการถือกำเนิดเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา วัดแห่งนี้ คือ วัดราชบูรณะ วัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจนหลายๆ คน เริ่มลืมเลือนไป จนกระทั่งมาปรากฎเป็นข่าวอีกครั้ง หลังจากการเปลี่ยนผ่าน จากกรุงศรีอยุธยา ระยะเวลามานานหลายร้อยปี จวบจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในปีพุทธศักราช 2500 ความแตกตื่นและโกลาหลเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อปรากฎข่าวการขุดค้นพบกรุสมบัติอันล้ำค่าในวัดราชบูรณะ วัดที่พระเจ้าสามพระยา พระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระนครอินทราธิราช ทรงสร้างขึ้น

วัดราชบูรณะ
วัดราชบูรณะ วัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจนหลายๆ คน เริ่มลืมเลือนไป

        วัดราชบูรณะ มีอีกชื่อที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน คือ เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา วัดแห่งนี้มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า สร้างขึ้นในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือ พระเจ้าสามพระยา นับเป็นวัดหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นภายหลังจากพระราชบิดา สมเด็จพระนครอินทราธิราช เสด็จสวรรคต และในช่วงเวลานั้น เจ้าอ้ายพระยา ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ และพระราชโอรสองค์ที่สอง คือ เจ้ายี่พระยา ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อชิงพระราชสมบัติกัน ทั้งสองพระองค์กระทำยุทธหัตถีที่เชิงสะพานป่าถ่าน แล้วสิ้นพระชนม์ด้วยกันทั้งคู่ ขุนนางผู้ใหญ่จึงได้อัญเชิญเจ้าสามพระยา ซึ่งขณะนั้นครองเมืองชัยนาท ขึ้นครองราชสมบัติ และทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๗ และทรงเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด

           ครั้งเมื่อพระเจ้าสามพระยาเสด็จเถลิงถวัลย์เป็นพระมหากษัตริย์แล้ว พระราชภารกิจแรกของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หลังจากทรงขึ้นครองราชย์ คือ การถวายพระเพลิงพระศพ พระเชษฐาทั้ง ๒ พระองค์ พระองค์โปรดให้สร้างพระมหาธาตุและพระวิหารเพื่อเป็นวัดซึ่งพระราชทานนามว่าวัดราชบูรณะ และสถานที่พระเชษฐาทรงทำยุทธหัตถี ทรงโปรดให้ก่อพระเจดีย์ ๒ องค์ ซึ่งมีความตรงตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ซึ่งถือว่ามีความถูกต้องทั้งเหตุการณ์และศักราช

พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา
เครื่องทองราชูปโภค เครื่องราชกกุภัณฑ์

        และเนื่องจากเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ในการเก็บสมบัติส่วนพระองค์ อาทิเช่น เครื่องทองราชูปโภค เครื่องราชกกุภัณฑ์ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ไว้ ณ วัดแห่งนี้ ด้วยความเชื่อว่า เมื่อกษัตริย์เสด็จสวรรคต หรือการสละราชสมบัติ จะต้องนำทรัพย์สิน สิ่งของวัตถุมีค่ามาบรรจุไว้ในพระปรางค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นการยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาได้ว่ามีความเจริญรุ่งเรืองมานานแล้ว จากหลักฐานประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมมีคนน้อยนักที่จะเชื่อว่า สมบัติดังกล่าวยังมีอยู่จริง เพราะกาลเวลาผ่านล่วงเลยมาหลายสมัย จนยากที่จะคิด หรือสันนิษฐานต่อได้ว่า ภายใต้ซากโบราณสถาน และความเก่าแก่ของพระปรางค์จะมีห้องกรุสมบัติจำนวนมหาศาลที่ยังคงฝังอยู่ลึกลงไปในพระปรางค์ ในขณะที่ช่วงเวลานั้นทางกรมศิลปากร กำลังอยู่ในช่วงสำรวจพื้นที่เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานเก่าแก่หลายๆ แห่งใน  จ.พระนครศรีอยุธยา

เป็นความบังเอิญ หรือละโมบโลภมากของคนไม่กี่คน ทำให้การขุดเจอกรุสมบัติกลายเป็นเรื่องใหญ่ของชาติ ที่จองพื้นที่หัวข่าวเกือบทุกสำนัก ณ เวลานั้น แม้ว่ากรุสมบัติที่พบเจอ ทางกรมศิลปากรสามารถเก็บมารักษาไว้ได้เพียง ๒๐% เท่านั้น นั่นหมายความว่า พระปรางค์แห่งนี้มีสมบัติของชาติมากมายถึง ๘๐% ที่หายไปจากการลักลอบขุดและขโมยสมบัติของหลวงไปขาย จำนวนกรุสมบัติที่พบ ณ วัดราชบูรณะแห่งนี้ ไม่ได้มีห้องเก็บสมบัติเพียงแค่ ๑ ห้องเท่านั้น แต่มีถึง ๕ ห้อง และแต่ละห้องบรรจุทรัพย์สมบัติไว้มากมายเกินที่จะประเมินค่าได้

This slideshow requires JavaScript.

กรุสมบัติทั้งหมด ภายในพระปรางค์
กรุสมบัติทั้งหมด ภายในพระปรางค์

กรุสมบัติทั้งหมด ภายในพระปรางค์ ซึ่งมีความลึกถึง ๑๗ เมตร ของวัดราชบูรณะนั้น ประกอบไปด้วยเครื่องทองคำ พระพิมพ์ แหวนทองคำ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระมหามงกุฎราชินี เสื้อทองคำ และเครื่องทอง รวมถึงอัญมณีอันประเมินค่าไม่ได้อีกมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งที่สามารถขุดมาเก็บรักษาได้ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยานั่นเอง หากได้ชมและพินิจ พิจารณาแต่ละชิ้นแล้ว เครื่องทองแห่งนี้มีความวิจิตรงดงามเป็นอย่างมาก และส่วนหนึ่งอาจจะได้มาจากครั้งที่พระเจ้าสามพระยาได้ยกทัพไปตีเมืองเขมร ภายในกรุแห่งนี้มีเพียง ๒ ชั้น และแต่ละชั้นมี ความสูงจากระดับพื้นถึงเพดานประมาณ ๕ เมตร และกรุชั้นล่างสูงเพียง ๒.๒ เมตร

ประชาสัมพันธ์

Camel รองเท้าผ้าใบลําลอง

        นอกเหนือจากเครื่องทองทั้งหลายแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีความงดงาม และขโมยผู้โลภมากเหล่านั้น ไม่สามารถนำไปได้ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือสกุลช่างสมัยอยุธยาตอนต้นอันงดงามที่ปรากฎอยู่บนผนังรอบด้านของกรุ มีทั้งภาพลายดอกไม้ร่วง และภาพเขียนจีน ทั้งหมดทั้งมวลต่างเป็นภาพจิตรกรรมที่เก่าแก่และดั้งเดิม  เขียนด้วยสีฝุ่น มี 3 สีหลัก คือ สีแดง สีดำ และสีขาว มีความสวยงามวิจิตรเป็นอย่างมาก ควรค่าแก่การเข้าชมและเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ การค้าขายระหว่างประเทศ และสังคมชาวเมืองอยุธยาในสมัยนั้น

ช่างศิลป์สมัยอยุธยา ไม่เพียงแต่มีฝีมือเป็นเลิศ แต่ความอดทน และสมาธิยังแน่วแน่วเกินจะบรรยาย

           ปัจจุบันสิ่งของมีค่าทั้งหมดถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา และภาพจิตรกรรมชั้นครู รอการบูรณะอีกครั้งจากกรมศิลปากร ฉันรู้สึกประหลาดใจกับการบรรจงลงภาพจิตรกรรมบนฝาผนังภายในกรุเป็นอย่างมาก เพราะทั้งลึก ทั้งอับ และอากาศหายใจมีเพียงน้อยนิด ช่างศิลป์สมัย กรุงศรีอยุธยา ไม่เพียงแต่มีฝีมือเป็นเลิศ แต่ความอดทน และสมาธิยังแน่วแน่วเกินจะบรรยาย เพราะเพียงแค่ฉันใช้เวลาชมภาพจิตรกรรมแต่ละด้าน ยังรู้สึกหายใจไม่ค่อยออก นับประสาอะไรกับการต้องนั่งบรรจงวาดภาพเรื่องราวบนผนังที่ต้องใช้เวลายาวนาน ช่างเป็นเรื่องที่ประหลาดและมหัศจรรย์ของช่างโบราณอย่างแท้จริง   

พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา
พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา

          อ่านถึงตรงนี้แล้ว คุณผู้อ่านรู้สึกเสียดายและเสียใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือไม่คะ ?   ส่วนฉันได้แต่พูดไม่ออก เพราะหากเราสามารถเก็บรักษาได้ทั้ง ๑๐๐% ประเทศไทยของเราจะมีคลังสมบัติชาติที่ยากแก่การประเมินค่า เพราะมีคุณค่าทั้งทางจิตใจ คุณค่าต่อการเรียนรู้และเข้าใจถึงรากเหง้า ประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง และถึงแม้ว่า ๒๐% ที่สามารถเก็บรักษาให้รอดพ้นจากเงื้อมมือคนโลภมากมาได้ ก็ยังมีคุณค่าต่อความรู้สึกของคนไทยหลายๆ คน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถบอกได้ว่า สยามประเทศของเรามีความเจริญรุ่งเรืองมายาวนานแล้ว ไม่เพียงแต่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม ประเพณีเท่านั้น แต่เรายังมีสมบัติของชาติมากมายมหาศาล เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองเป็นที่รู้จักในระดับโลกมาตั้งแต่ในอดีต  

ayutthaya-body-9

ayutthaya-body-8สมบัติ ๘๐% ที่สูญหายไป ถึงแม้ว่าฉันจะรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ตกเป็นสมบัติของชาติเพื่อการเรียนรู้และการรักษาให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้มีโอกาสเห็น แต่มา ณ บัดนี้ ฉันก็ได้รับรู้แล้วว่า ผู้คิดครอบครองสมบัติของพระมหากษัตริย์เหล่านั้น ไม่มีใครมีชีวิตดีขึ้นสักราย การลักขโมยของสูง ย่อมมีผลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไม่สามารถเรียกความปกติสุขคืนมาได้อีกตลอดชีวิต เพราะเครื่องทอง ข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์เป็นของสูงที่คนธรรมดาถือครองมิได้ เป็นการหมิ่นพระเกียรติยศ และลบหลู่เบื้องบน    ดังปรากฎเป็นเรื่องบอกเล่ากันเสมอมาถึงความวิบัติของผู้ครอบครอง เรื่องบางอย่าง คงยากแก่การพิสูจน์ สำคัญที่สุด คือ การช่วยกันดูแลและทำนุ บำรุงรักษาโบราณสถาน และโบราณวัตถุทุกชิ้นให้อยู่ยืนยาว เฉกเช่น กระแสพระราชดำรัสที่ทรงมีแก่ข้าราชการ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จพระราชดำเนิน เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๔ มีความดังว่า

“โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็น แก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่ในอดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล  มีผู้กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีผู้สนใจ และหาซื้อโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ส่งออกไปต่างประเทศกันมาก ถ้าต่อไปภายหน้า เราจะต้องไปศึกษา หรือชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยเราเองในต่างประเทศ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และน่าอับอายมาก เราจึงควรจะขวนขวาย และช่วยกันหาทางรวบรวมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของเรา แล้วจัดสร้างพิพิธภัณฑสถาน เก็บรักษาไว้จะเป็นการดีที่สุด”

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article