miscellaneous, Thai Book Review แนะนำหนังสือ, Uncategorized

จากเมาะตะมะสู่สามโคก เมืองโบราณ ถิ่นฐานชาวรามัญ ตอน 1

เมื่อปลายเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสไป ล่องท่อง แม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำหลักซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมานานนับหลายร้อยปี และตลอดเส้นทางสายเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงผู้คนอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ มีทั้งคนไทยเชื้อสายไทย คนไทยเชื้อสายจีน หรือแม้แต่คนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ที่ได้มาอาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิสมภารในพระมหากษัตริย์ไทย มาอย่างยาวนาน มีบรรพบุรุษที่ลงหลักปักฐานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย และเป็นคนไทยแท้ไปแล้วโดยสัญชาติ

    เส้นทางที่ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรม เส้นทางหนึ่ง

    ที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้  นั่นก็คือ ชุมชมชาวมอญ ถิ่นฐานชาวรามัญ

     ชุมชมชาวมอญ ที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนานนับตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่นี่ ชุมชนชาวมอญ “มอญบ้านศาลาแดงเหนือ” ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รักสงบ มีชีวิตอย่างสมถะ ยึดมั่นในคำสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ เคร่งครัดในวิถีชีวิต มีระเบียบต่อผู้อื่นและต่อผู้คนในสังคม

ชุมชมชาวมอญ

ฉันมีโอกาส พูดคุยและได้รับฟังเรื่องราวความเป็นมาของ ชาวมอญ ในย่านสามโคกแห่งนี้ จาก ปราชญ์ชาวบ้าน คนไทยตัวอย่างประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๕  ดร.พิศาล บุญผูก ซึ่งอาจารย์ให้ความกรุณาเล่าให้กับ “กลุ่มเครือข่ายภาคการท่องเที่ยวประชาสังคม” ที่มีความสนใจในพื้นที่วัฒนธรรมแห่งนี้ได้รับฟังและเรียนรู้ถึงความเป็นมาของชาวมอญในย่านนี้

อาจาย์พิศาล ได้กรุณาเล่าให้ฟัง โดยย้อนความเป็นมาตั้งแต่สมัย ชาวมอญอพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ จนเกิดสงครามขึ้นระหว่าง พม่าและชาวมอญ จนชาวมอญต่างกระจัดกระจายและอพยพเข้ามาอยู่กันในหลายพื้นที่ของสยาม และในส่วนของ ชุมชนชาวมอญบ้านศาลาแดงเหนือ ได้เข้ามาลงหลักปักฐานในพื้นที่นี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งพระองค์ก็เป็นผู้ที่ พระราชทานนามจังหวัดปทุมธานี ไว้ ตามที่ท่านสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้พรรณนาเอาไว้ในนิราศภูเขาทอง ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๑ ว่า

“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี

ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว”

อาจารย์พิศาล ยังระบุอีกด้วยว่า ชาวบ้านเชื้อสายมอญ ที่ บ้านศาลาแดงเหนือ เป็นชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ เมื่อครั้งแพ้สงครามแก่พม่า และนับเป็นการอพยพครั้งที่ ๘ ของชาวมอญที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ชาวมอญทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยมาทุกยุคทุกสมัย ที่ได้มอบที่อยู่ทำกิน และถิ่นฐานให้แก่ชาวมอญ ผู้คนในบ้านมอญศาลาแดงต่างสำนึกและพึงระลึกอยู่ในใจมาโดยตลอดว่า จะต้องดูแลพื้นที่ในชุมชนและสังคมใกล้เคียงให้ดี ทำหน้าที่ปกป้องดูแลพื้นที่ เช่นเดียวกับชาวมอญในอดีตที่มีหน้าที่เป็นทหาร คอยปกป้องและดูแลแผ่นดินไทยให้ปลอดภัยจากศัตรู สมกับที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีพระเมตตาต่อชาวมอญ ทำให้ทุกวันนี้ชาวมอญได้พึ่งใบบุญ อยู่ใต้ร่มโพธิสมภารอย่างเป็นสุข

บ้านศาลาแดงเหนือ ชุมชมชาวมอญ

     ชุมชมชาวมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ ทุกคน ล้วนมีหน้าที่ดูแลต้นน้ำลำคลองอย่างดี เท่าที่ฉันได้เดินสำรวจพื้นที่ชุมชนในย่านนี้ จะสังเกตเห็นได้ชัดว่า ความเป็นอยู่ของชุมชนนั้นน่าอยู่มาก มีความสะอาด สงบ และมีพื้นที่เพียงจุดเดียวสำหรับการทิ้งขยะ ที่มีการคัดแยกเป็นอย่างดี หนึ่งในชาวชุมชนบ้านมอญศาลาแดงเหนือ คุณมานพ แก้วหยก ได้กรุณาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า การทิ้งขยะของชาวบ้านมีข้อตกลงว่าจะต้องมาทิ้งขยะในพื้นที่เดียว เพื่อที่จะได้ดูแลเรื่องความสะอาดของชุมชนได้ดี และชาวชุมชนเองก็มีความเป็นระเบียบ มีวินัยที่น่ายกย่องเป็นอย่างมาก พื้นที่ชุมชนแม้ไม่ได้มีขนาดใหญ่ แต่ก็มีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน ไม่ว่าจะมีกิจกรรมงานบุญ งานประเพณี หรือวันพระ ชาวชุมชนมักมารวมตัวกันทำบุญ พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน และสวดมนต์ร่วมกัน

เสน่ห์ของวิถีชีวิต ชุมชมชาวมอญ

จะสังเกตได้ว่าชาวบ้านที่นี่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ซึ่งเป็นเสน่ห์ของวิถีชีวิตของที่นี่ ที่เราจะหาแทบไม่ได้อีกในปัจจุบัน สายน้ำแห่งเจ้าพระยา ที่เป็นเสมือนเพื่อนบ้านของชุมชน ดูสะอาดสะอ้าน กว้างใหญ่ และไม่มีเรือพลุกพล่าน บ้านเรือนของชาวชุมชนที่ตั้งเรียรายอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีศาลาไม้หลังขนาดย่อมๆ ทอดไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะ เพื่อเอาไว้สำหรับนั่งพักผ่อนในยามเย็น หรืออาจจะใช้เป็นที่สำหรับซักผ้า ชำระล้างสิ่งของเพื่อความสะอาด ซึ่งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาย่านนี้ก็สะอาด ไม่มีขยะให้เห็นแม้แต่น้อย

หน้าที่ดูแลความสะอาดของแม่น้ำเหล่านี้ เป็นหน้าที่สำคัญ ของ ชาวมอญบ้านศาลาแดงเหนือ ทุกคน เพราะวิถีชีวิตของพวกเขาผูกพันธ์กับธรรมชาติกันมายาวนาน และยึดถือว่าธรรมชาติคือส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต และอย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือ มีวัดเป็นศูนย์กลาง สถานที่รวมจิตใจของชาวชุมชน วัดแห่งนี้ชื่อว่า ….

“วัดศาลาแดงเหนือ”

สถานที่รวมจิตใจของชุมชมชาวมอญ

วัดศาลาแดงเหนือ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และมีการขุดพบพระพุทธรูปโบราณซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔

วัดศาลาแดงเหนือ จึงเป็นศูนย์กลางของชาวมอญในพื้นที่มาอย่างยาวนานแล้ว เพราะหากนับไปถึงรุ่นบรรพชนชาวมอญในย่านนี้ ก่อนที่จะมีวัดศาลาแดงเหนือ ถิ่นสามโคกนับเป็นถิ่นเก่าแก่โบราณ ที่มีชาวมอญอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวมอญย่านบ้านศาลาแดงเหนือ ส่วนใหญ่มีอาชีพ ค้าขายทางเรือ เราจึงพบว่าวัดศาลาแดงเหนือ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านแล้ว แต่ที่นี่ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรือโบราณ ซึ่งเป็นรูปแบบเรือมอญ โดยชาวบ้านในชุมชนต่อเรือไว้ใช้เอง ซึ่งเรือมอญ ก็สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ เรือสำปั้น , เรือข้างกระดาน และเรือกระแซง

ประชาสัมพันธ์

Banana ไซเดอร์ วีนีก้าร์ - N1

พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรือโบราณ ชุมชมชาวมอญ

ชุมชมชาวมอญ
ภาพถ่ายจาก https://www.facebook.com/มอญบ้านศาลาแดงเหนือ

คุณมานพ แก้วหยก ที่ค้าขายทางเรือมายาวนาน ได้เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมักพาย เรือกระแซง ไปขายของกันถึงกรุงเทพมหานคร ยิ่งรุ่นคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณตาคุณยาย พายเรือไปไกล ขายสินค้าถึง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ไปเช้าเย็นกลับ สินค้าที่ขายกันมาตั้งแต่อดีต ก็ได้แก่ สินค้าจำนวนพวกภาชนะ โอ่ง , ไห ,อ่าง , ครก หรือเครื่องอุปโภคประเภทเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์งานฝีมือของชาวมอญ

หากคุณได้มาเดินเที่ยวและชม พิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งถึงความสามารถของชาวมอญในการต่อเรือ สร้างเรือขึ้นใช้เอง รวมถึงผลิตภัณฑ์โอ่ง เครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายงามเฉพาะตัว สวยงาม คงทน และมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากคุณเคยได้ยิน การเรียกขานตุ่มขนาดใหญ่ว่า เป็น “ตุ่มสามโคก” ที่นี่ นี่เอง คือ แหล่งที่มาของ ตุ่มสามโคก อันเลื่องชื่อ ซึ่งชาวมอญเรียกตุ่มสามโคกนี้ว่า “อีเลิ้ง” คำว่า “อีเลิ้ง” จึงไม่ใช่คำที่ใช้เรียกคน หรือชื่อคนแต่ใด หากแต่เป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะจำพวก ตุ่มหรือโอ่ง ที่พ่อค้าแม่ค้าชาวมอญในสมัยก่อน ต่างพายเรือและนำตุ่มสามโคกไปขายถึง ตลาดนางเลิ้ง ในพระนคร

 

“ตุ่มสามโคก หรือ อีเลิ้ง”ตุ่มสามโคก ชุมชมชาวมอญ

     ตุ่มสามโคก เป็นผลิตภัณฑ์จาก เตาเผาสามโคก จ.ปทุมธานี และที่นี่ก็ยังมีแหล่งเตาเผาขนาดใหญ่  ซึ่งทำให้เรารับรู้ได้ว่า ในอดีตนั้นที่นี่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่อยู่ใกล้ กรุงเทพมหานครที่สุด และยังเป็นเตาเผาที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และตุ่มสามโคกที่เป็นผลิตภัณฑ์อันขึ้นชื่อของแหล่งเตาเผาสามโคก มีลักษณะที่โดดเด่น คือ มีลักษณะเนื้อหนา สีส้ม ปากแคบ ลำตัวป่องและก้นเล็ก ขนาดของปากตุ่มและก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน รูปทรงลักษณะเตี้ยและสามารถเก็บความเย็นของน้ำได้ดี ในสมัยก่อนที่ยังหาน้ำแข็งไม่ได้ ชาวบ้านจึงนิยมใส่น้ำกินไว้ในตุ่ม เพื่อให้คงความเย็น และไว้ดื่มบรรเทาอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี

เตาเผาสามโคก จ.ปทุมธานี

 

   โปรด ติดตามตอนที่ 2 …. สามโคก เมืองโบราณ..ถิ่นฐานชาวรามัญ

  • วัดเก่าแก่โบราณ วัดสิงห์ ที่มีอายุราว ๓๐๐ กว่าปี  วัดโบราณที่อยู่คู่เมืองสามโคกมาช้านาน
  • กระยาสารทมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ ปลาร้ามอญ

 

 



Cultures of Fermented 
by Scoby Doit
Previous ArticleNext Article